ถ้าลูกค้าที่เข้าพักในโรงแรมค้างชำระค่าที่พักและบริการอื่น ๆ คุณจะมีวิธีจัดการกับลูกค้าเหล่านี้อย่างไรเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่ทำให้โรงแรมของคุณเสื่อมเสียชื่อเสียง…
แสดงเนื้อหาเพิ่ม คลิกที่นี่
เมื่อคุณทำธุรกิจโรงแรม มันมีความเป็นไปได้อย่างสูงเลยค่ะที่โรงแรมของคุณจะเจอลูกค้าชิ่งหนีไม่จ่ายค่าห้องพักและค่าบริการอื่น ๆ ของโรงแรม เช่น ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าซักรีด เป็นต้น และถ้าคุณต้องเจอกับลูกค้าที่นิสัยไม่ดีเหล่านี้คุณจะมีวิธีรับมือกับปัญหานี้อย่างไร
เพื่อไขข้อข้องใจสำหรับปัญหานี้ให้กับเพื่อน ๆ ผู้ประกอบการโรงแรม ฉันจึงได้นำวิธีจัดการกับลูกค้าที่ไม่ชำระค่าห้องพักและค่าบริการอื่น ๆ ของโรงแรมมาแบ่งปันค่ะ เพื่อที่คุณจะได้มีแนวทางในการจัดการกับลูกค้าประเภทนี้และไม่ทำให้โรงแรมของคุณมีชื่อเสียงที่มัวหมอง
ถ้าหากลูกค้าที่เข้าพักในโรงแรมของคุณมีการค้างชำระค่าที่พักหรือบริการอื่น ๆ คุณมีสิทธิทางกฎหมายที่จะสามารถจัดการกับลูกค้าประเภทนี้ได้เลยค่ะ
ตามกฎหมายมาตรา 679 นั้น ได้ให้สิทธิทางโรงแรมสามารถใช้สิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินของลูกค้าที่เข้าพักได้ เช่น กระเป๋าเดินทาง ของมีค่าที่อยู่ในห้องพัก รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ของที่รับฝากไว้กับทางโรงแรม เช่น แหวน นาฬิกา เครื่องประดับ เป็นต้น จนกว่าทางโรงแรมจะได้รับชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมด
ในกรณีที่หากลูกค้าไม่มาดำเนินการใช้หนี้ที่ค้างชำระกับทางโรงแรม และถึงแม้โรงแรมจะได้ยึดหน่วงทรัพย์สินของลูกค้าเอาไว้แล้ว แต่ทางโรงแรมก็ไม่สามารถยึดทรัพย์สินดังกล่าวของลูกค้ามาเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงแรมได้ในทันที แต่ต้องนำทรัพย์สินเหล่านั้นมาขายทอดตลาดก่อน ซึ่งกฎหมายก็ได้ให้อำนาจทางโรงแรมจัดการขายทอดตลาดได้เองโดยไม่ต้องขออำนาจศาล และทางโรงแรมสามารถหักเอาจำนวนเงินที่ค้างชำระรวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขายทอดตลาดจากเงินที่ขายทรัพย์สินนั้น เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว มีเงินคงเหลืออยู่เท่าไหรก็จะนำมาคืนให้กับลูกค้าที่เป็นเจ้าของทรัพย์นั้นหรือฝากไว้กับสำนักงานฝากทรัพย์ตามบทบัญญัติในมาตรา 331 และ 333
ประมาลกฎหมายแพ่งและพาณิยชย์ระบุว่า
“มาตรา ๖๗๙ เจ้าสำนักชอบที่จะยึดหน่วงเครื่องเดินทางหรือทรัพย์สินอย่างอื่นของคนเดินทางหรือแขกอาศัยอันเอาไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นได้จนกว่าจะได้รับใช้เงินบรรดาที่ค้างชำระแก่ตน เพื่อการพักอาศัยและการอื่น ๆ อันได้ทำให้แก่คนเดินทางหรือแขกอาศัยตามที่เขาพึงต้องการนั้น รวมทั้งการชดใช้เงินทั้งหลายที่ได้ออกแทนไปด้วย
วรรคสอง เจ้าสำนักจะเอาทรัพย์สินที่ได้ยึดหน่วงไว้เช่นว่านั้นออกขายทอดตลาดแล้วหักเอาเงินใช้จำนวนที่ค้างชำระแก่ตนรวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดนั้นจากเงินที่ขายทรัพย์สินนั้นก็ได้ แต่ท่านมิให้เจ้าสำนักใช้สิทธิดังว่านี้ จนเมื่อ
(๑) ทรัพย์สินนั้นตกอยู่แก่ตนเป็นเวลานานถึงหกสัปดาห์ยังมิได้รับชำระหนี้สิน และ
(๒) อย่างน้อยเดือนหนึ่งก่อนวันขายทอดตลาด ตนได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ประจำท้องถิ่นฉบับหนึ่งแจ้งความจำนงที่จะขายทรัพย์สิน บอกลักษณะแห่งทรัพย์สินที่จะขายโดยย่อ กับถ้ารู้ชื่อเจ้าของ ก็บอกด้วย
วรรคสาม เมื่อขายทอดตลาดหักใช้หนี้ดังกล่าวแล้ว มีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใดต้องคืนให้แก่เจ้าของ หรือฝากไว้ ณ สำนักงานฝากทรัพย์ตามบทบัญญัติในมาตรา ๓๓๑ และ ๓๓๓
สรุป วิธีจัดการกับลูกค้าที่ไม่ชำระค่าห้องพักและค่าบริการอื่น ๆ ของโรงแรม ดังนี้
1.ใช้สิทธิยึดหน่วง
สิทธิยึดหน่วงเป็นสิทธิที่กฎหหมายให้สิทธิกับทางโรงแรม ไม่ยอมให้ลูกค้าที่เข้าพักเอาทรัยพ์สินที่นำเข้ามาในโรงแรมออกไปได้จนกว่าทางโรงแรมจะได้รับชำระหนี้จนครบจำนวนที่ลูกค้าค้างชำระ
2. หนี้ที่ทางโรงแรมสามารถใช้สิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินของลูกค้าได้
2.1 หนี้เพื่อการพักอาศัย ได้แก่ ค่าห้องพัก
2.2 หนี้เพื่อการอื่น ที่ทางโรงแรมได้ทำให้แก่ลูกค้าที่เข้าพักตามที่ร้องขอ เช่น ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าซักรีด เป็นต้น
2.3 หนี้ที่ทางโรงแรมได้ออกเงินไปก่อน เช่น ลูกค้าสั่งอาหารแต่ทางโรงแรมไม่มีอาหารขาย และโรงแรมได้ไปซื้ออาหารจากที่อื่นมาให้ลูกค้า
** หากเป็นหนี้อย่างอื่นนอกจาก 3 ประการนี้ เช่น ลูกค้าขอกู้ยืมเงินจากทางโรงแรมแล้วผิดนัดชำระ ในกรณีเช่นนี้ทางโรงแรมจะใช้สิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินของลูกค้าไม่ได้
3. ทรัพย์ที่ยึดหน่วง
ทรัพย์สินที่ทางโรงแรมสามารถใช้สิทธิยึดหน่วงได้ ต้องอยู่ในเกณฑ์ดังนี้
3.1 ต้องเป็นทรัพย์สินของลูกค้าที่เข้าพักโดยตรง จะยึดทรัพย์สินของคนอื่นไม่ได้
3.2 ต้องเป็นทรัพย์สินที่ลูกค้านำมาไว้ในโรงแรม จะยึดทรัพย์สินที่ไม่ได้นำมาไว้ในโรงแรมไม่ได้ เช่น การเดินทางไปยึดทรัพย์สินของลูกค้าที่บ้าน หรือจะยึดของที่ติดตัวของลูกค้าไม่ได้ เพราะถือว่าทรัพย์สินดังกล่าวลูกค้าไม่ได้ฝากไว้กับทางโรงแรม
4. สิทธิจัดการทรัพย์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 679 วรรคท้าย เปิดโอกาสให้โรงแรมบังคับชำระหนี้จากลูกค้าได้เองโดยไม่ต้องฟ้องร้องต่อศาล เหตุผลก็อาจเนื่องจากว่า เป็นการยากที่จะค้นหาตัวลูกค้าดังกล่าวและภาระหนี้ที่กฎหมายอนุญาตให้ทางโรงแรมบังคับเอาได้ก็มีจำนวนไม่มาก จึงยอมให้ทางโรงแรมจัดการบังคับเอาเองได้โดยไม่ต้องขออำนาจศาล
ข้อปฏิบัติก่อนทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกค้า
1.ทางโรงแรมต้องยึดทรัพย์สินไว้ก่อนเป็นเวลานานถึง 6 สัปดาห์ โดยที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้
2. ทางโรงแรมต้องลงประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ประจำท้องถิ่นหนึ่งฉบับก่อนวันขายทอดตลาด เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน โดยระบุข้อความ ดังนี้
- แจ้งความจำนงที่จะขายทรัพย์สินนั้น
- บอกลักษณะของทรัพย์สินนั้นที่จะขายโดยย่อ
- แจ้งชื่อเจ้าของทรัพย์สิน (ถ้ารู้)
การขายทอดตลาด
เมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การขายทอดตลาดแล้ว ทางโรงแรมก็สามารถนำทรัพย์สินของลูกค้าออกทำการขายทอดตลาดได้ โดยเปิดเผยต่อบุคคลทั่วไปและผู้ที่ต้องการซื้อได้ทำการประมูลเพื่อสู้ราคากัน ใครให้ราคาสูงสุด ผู้นั้นเป็นผู้ซื้อได้
ผลจากการขายทอดตลาด
เมื่อทางโรงแรมขายทอดตลาดได้เงินแล้ว ก็จะต้องดำเนินการดังนี้
- หักชำระภาระหนี้ที่ลูกค้าต้องชำระ
- หักค่าฤชาธรรมเนียม
- หักค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาด
เงินที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้วก็จะคืนให้กับเจ้าของทรัพย์ หรือฝากไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ประจำตำบลที่จะต้องชำระหนี้
วิธีการทั้งหมดนี้ คือการจัดการกับลูกค้าที่ไม่ชำระค่าที่พักและบริการอื่น ๆ ของโรงแรมตามกฎหมายค่ะ เพราะลูกค้าที่เข้ามาพักอาศัยในโรงแรมนั้นมีมากหน้าหลายตาและทางโรงแรมก็ไม่อาจเลือกแขกที่เข้ามาพักได้ จึงมีโอกาสที่อาจจะได้เจอกับเหล่ามิจฉาชีพที่ทำให้โรงแรมได้รับความเสียหาย ดังนั้น กฎหหมายจึงได้ให้อำนาจผู้จัดการโรงแรมใช้ดุลยพินิจปฏิเสธลูกค้าไม่ให้เข้าพักในโรงแรมได้ (มาตรา 9 พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547) ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.เป็นบุคคลต้องสงสัยที่จะก่อความผิดอาญาขึ้นในโรงแรม เช่น ตั้งกลุ่มมั่วสุมดื่มสุรา เสพย์สารเสพติด เปิดบ่อนวิ่ง เป็นต้น
2. มีเหตุที่เชื่อได้ว่าลูกค้ารายนี้ไม่สามารถชำระค่าห้องพักได้ เช่น โรงแรมกำหนดให้ลูกค้าต้องชำระเงินก่อนเข้าพัก เมื่อลูกค้าชำระด้วยบัตรเครดิตแต่บัตรมีวงเงินไม่พอหรือแจ้งว่าบัตรถูกอายัด เป็นต้น
3. มีเหตุที่เชื่อได้ว่าลูกค้ารายนี้เป็นโรคติดต่อร้ายแรง
4. มีเหตุอันสมควรตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ถึงแม้ว่ากฎหมายจะให้สิทธิทางโรงแรมปฏิเสธการเข้าพักของลูกค้าตามดุลยพินิจของผู้จัดการโรงแรมได้ แต่หากทางโรงแรมปฏิเสธไม่รับแขกผู้พักในโรงแรมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ต้องระวางโทษปรับทางปกครอง ตั้งแต่ 5,000 บาท – 20,000 บาท (มาตรา 58 พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ.2547)
การทำธุรกิจโรงแรมนั้น เป็นธุรกิจที่มีกฏหมายข้อบังคับอยู่หลายข้อที่ทางโรงแรมต้องปฏิบัติตาม ซึ่งอาจเป็นเรื่องยุ่งยากอยู่บ้างสำหรับเจ้าของโรงแรมและผู้จัดการโรงแรมที่ต้องสนใจศึกษาข้อกฎหมายของโรงแรมให้ดี เพราะโรงแรมนั้นเป็นอาคารสาธารณะที่มีคนมากหน้าหลายตาเข้ามาใช้บริการ การที่มีกฎหมายข้อบังคับมากมายก็เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าและเพื่อปกป้องความเสียหายให้กับทางโรงแรมนั่นเองค่ะ
หวังว่าเนื้อหาของบทความเรื่อง วิธีจัดการกับลูกค้าที่ไม่ชำระค่าห้องพักและบริการอื่น ๆ ของโรงแรมจะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางให้คุณนำไปใช้แก้ปัญหาเวลาที่เจอกับลูกค้าที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ได้นะคะ
“ 2 สิ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ คือความรู้และแรงบันดาลใจ โดยมีเป้าหมายคือความสุข”
ขอให้ทุกท่านจงสร้างธุรกิจโรงแรมที่ดี มีคุณภาพเพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยของเรา
หากคุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ และบอกต่อด้วยนะคะ
มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับหลักสูตร เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้
คอร์สอบรมที่ช่วยให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ภายใน 2 วัน
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ