
เมื่องานก่อสร้างโครงการโรงแรม-รีสอร์ทของคุณเริ่มขึ้น ผู้รับเหมาจะเริ่มส่งมอบงานให้คุณตามงวดงานจนกว่าจะถึงงวดสุดท้ายเพื่อปิดโครงการ แล้วคุณจะมีวิธีตรวจสอบงานก่อสร้างอย่างไรเพื่อให้รู้ว่างานก่อสร้างนั้นเสร็จเรียบร้อยดีตามที่ตกลง
คลิกอ่านต่อ ที่นี่
ก่อนจะเข้าเนื้อหาของบทความ ฉันอยากเป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจกับทุกท่านที่กำลังประสบกับปัญหาในสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ตัวฉันเองก็ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ไม่ต่างไปจากทุกคนเลยค่ะ และการระบาดของเชื้อไวรัสตัวนี้ก็ดูเหมือนจะอยู่กับเราไปอีกสักระยะ ทำให้หลาย ๆ ท่านที่กำลังวางแผนจะก่อสร้างโรงแรม-รีสอร์ทจำต้องหยุดชะงักหรือชะลอโครงการเอาไว้ก่อน ทั้งที่เตรียมตัวเตรียมทุนเอาไว้เป็นอย่างดี
ทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนเป็นอนิจจัง มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปรวมทั้งโรคร้ายและเชื้อไวรัสที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในตอนนี้ก็เช่นกัน แต่คุณแน่ใจแล้วหรือคะว่าหลังจากหมดปัญหาเรื่องการระบาดของโควิดนี้แล้วมันจะไม่มีปัญหาใหม่เข้ามาอีก ถ้าคุณคิดว่ามันจะเป็นเช่นนี้จริง ๆ ความคิดนี้ก็ดูจะไร้เดียงสาเกินไปหน่อยแล้วค่ะ เพราะตราบใดที่คุณยังมีชีวิตและลมหายใจอยู่บนโลกใบนี้ ปัญหามันจะวิ่งเข้ามาท้าทายและอบรมคุณอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่คุณสามารถทำได้ก็คือคุณต้องยอมรับและอยู่กับมันให้ได้ เมื่อคุณพบเจอกับปัญหาขอให้คุณเปลี่ยนปัญหาเป็นบททดสอบแล้วพยายามผ่านบททดสอบนี้ไปให้ได้เพื่อให้คุณเติบโตไปข้างหน้า ปัญหายังช่วยบ่มเพาะประสบการณ์และขัดเกลาสติปัญญาของคุณ เพราะความสำเร็จขั้นสุดยอดนั้นจะเป็นของคนที่มีความอดทนสูงสุด แล้วคุณอยากเป็นคนที่ประสบความสำเร็จหรือจะเลือกเป็นคนธรรมดาที่เอาแต่หลีกเลี่ยงปัญหากันล่ะคะ
หลังจากที่บทความก่อนหน้าได้เขียนแบ่งปันเรื่องของสัญญาจ้างงานและการคัดเลือกผู้รับเหมาไปแล้ว ในบทความนี้ฉันจึงนำขั้นตอนสุดท้ายของการก่อสร้างโครงการ คือขั้นตอนของการส่งมอบงานและการตรวจสอบงานก่อสร้างโครงการก่อนส่งมอบมาแบ่งปันค่ะ เพราะขั้นตอนนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหลังจากส่งมอบงานไปแล้วถ้าหากโครงการเกิดความเสียหาย อาจส่งผลกระทบต่อการสูญเสียทรัพย์สินและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้อาคารได้ค่ะ
อ่านเพิ่มเติม
- เอกสารที่ใช้ประกอบสัญญาจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่เจ้าของธุรกิจโรงแรมต้องรู้! คลิก
- รูปแบบของสัญญาจ้างก่อสร้างและการแบ่งเงินชำระค่างวดงานแก่ผู้รับเหมา ที่เจ้าของธุรกิจโรงแรมต้องรู้! คลิก
- เทคนิคการคัดเลือกผู้รับเหมามาก่อสร้างโครงกาลอย่างไรไม่ให้ทิ้งงาน ที่เจ้าของธุรกิจโรงแรมต้องรู้! คลิก
ขั้นตอนการส่งมอบงานก่อสร้าง
งานที่ผู้รับเหมาจะต้องส่งมอบให้กับเจ้าของโครงการ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. การส่งมอบงานตามงวดงานปกติ
เมื่อผู้รับเหมาทำงานเสร็จตามงวดงาน ก็จะทำหนังสือส่งมอบงานโดยระบุเนื้อหาของงานที่จัดส่งในงวดนั้น อาจมีภาพถ่ายของงานที่แล้วเสร็จประกอบด้วย เมื่อเจ้าของโครงการได้รับหนังสือส่งมอบงานจากผู้รับเหมา หากเป็นโครงการขนาดเล็กเจ้าของโครงการอาจเป็นผู้ทำการตรวจรับงานด้วยตนเอง แต่หากเป็นโครงการขนาดใหญ่เจ้าของโครงการอาจมีตัวแทนเป็นสถาปนิก วิศวกรหรือช่างควบคุมงานมาทำการตรวจสอบแทน ถ้าเนื้องานตรงตามที่กำหนดผู้รับเหมาก็สามารถทำเรื่องเพื่อขออนุมัติค่างวดงานโดยออกหนังสือใบตรวจรับงานประจำงวดส่งให้กับเจ้าของโครงการหรือฝ่ายบัญชีที่รับผิดชอบการเบิกจ่าย แต่หากเนื้องานน้อยกว่าที่ระบุในหนังสือก็จะมีการตัดทอนค่างวดตามจริง
2. การส่งงานงวดสุดท้ายเพื่อปิดโครงการ
การส่งงานงวดสุดท้ายจะมีขั้นตอนมากกว่าการส่งมอบงานตามงวดงานปกติ เนื่องจากต้องตรวจสอบความสมบูรณ์ของหน้างานให้เรียบร้อยทุกจุด และต้องทำการเคลียร์พื้นที่ในส่วนของอาคารก่อสร้างชั่วคราวใ้ห้เรียบร้อยทุกจุด เช่น บ้านพักคนงาน สำนักงานชั่วคราว เป็นต้น และต้องจัดทำเอกสารส่งมอบงานให้แล้วเสร็จ
การจัดทำรายการวางแผนเพื่อส่งมอบงาน
เมื่อถึงงวดงานสุดท้าย ผู้รับเหมาจะต้องวางแผนการส่งมอบงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้สามารถส่งมอบงานได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งรายการที่จะต้องจัดทำมีดังนี้ค่ะ
- As-Built Drawing เป็นแบบที่เขียนขึ้นตามการก่อสร้างจริงที่ได้ทำเสร็จแล้ว เพื่อให้ผู้ใช้อาคารได้ทราบว่ามีสิ่งก่อสร้างอะไรบ้างที่มองไม่เห็นจากภายนอก เช่น แนวสายไฟ แนวท่อ ขนาดของเสาเข็ม แนวคาน เป็นต้น หากภายหลังมีการก่อสร้างดัดแปลงอาคารก็สามารถทำได้อย่างสะดวก
ซึ่งแบบ As-Built Drawing จะมีความแตกต่างจากแบบก่อสร้าง เพราะบางครั้งไม่สามารถก่อสร้างได้ตามแบบเนื่องจากเจ้าของโครงการอาจมีการเปลี่ยนแปลงแบบหรือวิธีการก่อสร้างภายหลังจากที่ได้เซ็นต์สัญญาก่อสร้างไปแล้ว หรือติดเรื่องข้อจำกัดของสถานที่ก่อสร้างทำให้ไม่สามารถก่อสร้างได้ตามแบบที่กำหนด
- Hand Over Schedule คือแผนการส่งมอบงาน ที่ผู้รับเหมาจะต้องจัดทำเพื่อให้รู้ว่ามีรายการอะไรบ้างที่ต้องการส่งมอบให้กับเจ้าของโครงการหรือตัวแทนเพื่อตรวจรับงาน
- Testing & Commission Report คือรายการตรวจทดสอบการทำงานของระบบภายในอาคารว่าสามารถทำงานได้ตามที่กำหนดหรือไม่
- Training Program of M&E ในกรณีที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีระบบโครงสร้างที่ซับซ้อน ผู้รับเหมาและSuppliers อาจจะต้องจัดทำคู่มือการใช้งานและควบคุมระบบให้กับเจ้าของโครงการ และทางเจ้าของโครงการก็ต้องจัดเตรียมบุคคลากรให้พร้อมเพื่อมารับการฝึกอบรมให้สามารถใช้งานและควบคุมระบบได้หลังจากที่ผู้รับเหมาส่งมอบงานแล้ว
- Defect and Inspection Check List เป็นรายการที่ผู้รับเหมาจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการตรวจงานร่วมกับเจ้าของโครงการหรือตัวแทน เพื่อให้รู้ว่ามีงานตรงจุดไหนบ้างที่ต้องซ่อมแซมให้เรียบร้อย และแจ้งรายละเอียดของผู้ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จ
- Submit Maintenance Bond คือหนังสือค้ำประกันของผู้รับเหมาที่ออกให้โดยธนาคาร เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้รับเหมาจะดูแลรักษาโครงการตลอดระยะเวลาที่กำหนด เมื่อหมดระยะเวลารับประกันผู้รับเหมาก็จะเรียก Maintenance Bond คืนจากเจ้าของโครงการ
- Building Permit คือหนังสืออนุญาตในการใช้อาคาร ที่ทางผู้รับเหมาหรือเจ้าของโครงการจะต้องทำการขออนุญาตจากหน่วยงานราชการเพื่อขอเปิดใช้อาคารของโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว
การตรวจงานก่อสร้างโครงการก่อนส่งมอบ
การตรวจสอบงานที่ดีที่สุดคือการตรวจสอบระหว่างการก่อสร้าง แต่คุณจำเป็นต้องเข้าใจการทำงานในระหว่างก่อสร้าง เริ่มตั้งแต่ งานถมดิน งานวางผัง งานตอกเสาเข็มที่ฐานรากทะลุไปจนถึงงานมุงหลังคา ถ้าหากคุณไม่เข้าใจรายละเอียดการทำงานพวกนี้คุณก็อาจจำเป็นจะต้องจ้างผู้ควบคุมงานมาเป็นตัวแทนเพื่อช่วยตรวจสอบงานในโครงการค่ะ
ดังนั้น ก่อนที่คุณจะเข้าตรวจสอบหน้างานโครงการด้วยตนเอง คุณก็ควรจะมีความรู้พื้นฐานเรื่องพวกนี้ซักหน่อยค่ะ
งานถมดิน
งานถมดินเป็นขั้นตอนแรกของการเริ่มต้นก่อสร้างโครงการ หากเลือกใช้วัสดุถมดินที่ไม่ได้มาตรฐานก่อนเทคอนกรีตก็อาจจะทำให้เกิดการแตกร้าวเสียหายได้เมื่อมีแรงบรรทุกหรือแรงสั่นสะเทือน ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจลักษณะดินที่นำมาใช้ถมในโครงการและสามารถเลือกใช้ลักษณะของดินอย่างเหมาะสม จึงขอให้ทำคุณทำความรู้จักกับลัษณะของดิน 3 ชนิด ได้แก่
1.ดินบดอัดแน่นไม่น้อยกว่า 85 KSC
ดินที่นำมาถมต้องเป็นดินบดอัดที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
- ต้องเป็นดินที่มาจากแหล่งที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ว่าจ้าง
- ต้องเป็นดินแห้งที่สามารถเกาะตัวกันเป็นผนึกและสามารถบดอัดเป็นชั้น ๆ ได้ (ไม่เป็นดินเลนหรือโคลน)
- ต้องเป็นดินที่ไม่มีส่วนผสมจากวัชพืช รากไม้ ต้นไม้ หรือวัสดุอื่น ๆ เจือปนมากจนเกินไป
- ค่า CBR ของดินที่นำมาถม ต้องมีค่าไม่น้อยกว่า 2% (เมื่อทดสอบตามวิธี AASH T-193)
2. วัสดุประเภทลูกรัง ต้องมีคุณสมบัติและลักษณะ ดังนี้
- เป็นหินลูกรังที่ประกอบด้วยเม็ดแข็งทนนทาน ไม่มีส่วนผสมของวัชพืชหรือดินเหนียวที่มากเกินไป
- ส่วนคละของขนาดเม็ด ชนิด A-B-C-D จะต้องได้ตามตารางที่กำหนด
- ส่วนคละที่ผ่านตะแกรงเบอร์ 200 ต้องไม่เกิน 2/3 ของส่วนที่ผ่านตะแกรงเบอร์ 40
- ส่วนของตะแกรงเบอร์ 40 ถ้าผ่านได้จะต้องมีขีดความเหลวไม่เกิน 35% (เมื่อทดสอบตามวิธี AASHTO T-89)
- ค่าความเหนียว (Plasticity Index) ไม่เกิน 12% (เมื่อทดสอบตามวิธี AASHTO T-89) ค่า Plasticity Index เป็นค่าดัชนีที่ระบุถึงความยืดหยุ่นของวัสดซึ่งจะแตกร้าวเมื่อความชื้นเปลี่ยนไป
- วัสดุต้องมีค่า CBR อย่างต่ำ 25% ที่ความแน่น 90% ของความหนาแน่นสูงสุด (เมื่อทดสอบตามวิธีการของ AASHTO T-99)
หมายเหตุ :
- ค่า CBR (California Bearing Ratio) เป็นการทดสอบความแข็งของตัวอย่างดินที่บดอัดในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะพบว่าวัสดุที่อยู่ชั้นบนจะมีความต้องการค่า CBR ที่สูงขึ้น (หินคุก 80% , ดินลูกรัง 25% , ดินถม 2%)
- ค่า Standard Proctor คือการทดสอบการบดอัด ผลจากการทดสอบจะทำให้รู้ว่าประมาณน้ำเท่าใดจึงจะเหมาะกับการบดอัด
ค่า CBR และค่า Standard Proctor เป็นแค่เพียงตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้นที่ใช้ในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของงานและยังมีอีกหลายค่าที่ต้องการตรวจสอบ ผู้ปฏิบัติงานตรวจสอบจะต้องรู้ข้อมูลทางเทคนิคมากพอสมควร ดังนั้น ถ้าหากโครงการโรงแรมของคุณมีขนาดใหญ่ก็ขอแนะนำให้ใช้วิศกรหรือบุคคลผู้มีความรู้มาช่วยควบคุมงานจะดีกว่าค่ะ
งานวางผัง
เป็นการกำหนดตำแหน่งของอาคารที่จะก่อสร้างบนที่ดินตามผังที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานราชการ ผลที่ได้จากการวางผังคือหมุดที่ตอกไว้บนดินที่จะทำการปลูกสร้าง เสร็จแล้วอาจทำการขึงตึงเชือกเพื่อให้ทราบตำแหน่งอาคารและแนวของอาคารในแต่ละด้าน
เมื่อตรวจสอบหมุดที่ดินแล้วจึงทำการสำรวจระยะสูงต่ำ (บวก/ลบ) ในแบบกับสถานที่ก่อสร้างจริง เพื่อให้ระดับถนนและระดับตัวอาคารถูกต้องตามที่กำหนด จากนั้นจึงทำการตรวจสอบความมั่นคงแน่นหนาของหมุดอ้างอิงแกน X กับ แกน Y และหมุดระดับ เพื่อเอาไว้ใช้อ้างอิงตลอดโครงการ (ต้องรักษาหมุดนี้ไว้ให้ดี)
- ตรวจสอบความถูกต้อง แน่นหนาของหมุดเสาเข็ม เพื่อป้องกันหมุดเคลื่อนที่ขฯะเคลื่อนย้ายเสาเข็ม
- ตรวจสอบตำแหน่งอาคาร ระยะห่างระหว่างอาคารกับรั้ว และระยะเว้นต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามแบบ
- ตรวจสอบระดับต่าง ๆ เช่น ระดับความลึกของฐานราก ระดับดิน ณ จุด 0.00
- ตรวจสอบมุมฉากและมุมอื่น ๆ ของอาคาร
- ตรวจสอบแนวศูนย์กลางเสา ระยะห่างของช่วงเสาทุกต้น และความกว้างความยาวของตัวอาคาร
ข้อควรระวัง : ก่อนเข้าไปดำเนินการก่อสร้างในสถานที่ก่อสร้าง จำเป็นต้องทำการตรวจสอบหมุดที่ดินในโครงการก่อนว่าถูกต้องตรงตามโฉนดหรือไม่ หากมีพื้นที่ไม่ตรงตามโฉนดหรือมีพื้นที่บางส่วนหายไปจะต้องไปแจ้งสอบเขตที่ดินกับกรมที่ดิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับเจ้าของที่ดินข้างเคียง
งานตอกเสาเข็ม
เสาเข็ม เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอาคารที่ใช้ถ่ายน้ำหนักอาคารลงสู่ดิน ถ้าสภาพดินของโครงการมีลักษณะเป็นทรายหรือหิน แข็ง แน่น ก็ไม่จำเป็นต้องตอกเสาเข็ม การเลือกใช้เสาเข็มขึ้นอยู่กับชนิดและสภาพของดินซึ่งได้ข้อมูลจากการสำรวจเจาะดินว่าจะสามารถรับน้ำหนักได้เท่าใด และขึ้นอยู่กับขนาดโครงสร้างของตัวอาคารด้วย
การตรวจสอบก่อนตอกเสาเข็ม มีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้
- เข็มที่จะนำมาตอกควรได้รับตรารับรองจาก มอก. พร้อมหนังสือรับรองเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพ
- ตรวจรายการคำนวณของเข็มตอกพร้อมให้วิศวกรเซ็นกำกับ เพื่อความมั่นใจว่าเข็มได้มีการผลิตตามรายการคำนวณอย่างถูกต้อง
- ตรวจสอบการโก่งตัวและรอยร้าวของเสาเข็ม ถ้าหากพบว่าเสาเข็มมีรอยร้าวมากต้องทำการ Reject ห้ามนำมาใช้ในโครงการ
- ตรวจสอบขนาด พื้นที่หน้าตัด อายุ และคุณภาพของเสาเข็ม
- ตรวจสอบเงื่อนไขการตอกเสาเข็ม กำหนดด้วยความยาว หรือ Blow Count
- การกองเก็บวัสดุเข็มต้องใช้หมอนรองให้ตรงกับจุดยกเข็ม และจัดวางให้อยู่ในแนวเดียวกันเพื่อป้องกันความเสียหาย
- จัดลำดับขั้นตอนการตอกและกำหนดทิศทางของปั้นจั่นให้เดินออกจากอาคารสู่ที่โล่ง เพื่อป้องกันความเสียหายจากการเคลื่อนของดิน
การตรวจสอบขณะตอกเสาเข็ม มีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้
- ตรวจสอบอย่างใกล้ชิดขณะนำเสาเข็มจ่อตรงหมุดที่จะตอก เพื่อให้มั่นใจว่าเสาเข็มต้นนั้นจะตอกลงตามจุดที่กำหนดและป้องกันเสาเข็มหนีศูนย์
- ตรวจสอบแนวดิ่งของเสาทั้ง 2 ด้านด้วยขาทราย เพื่อให้มั่นใจว่าเสาเข็มไม่มีการเยื้องศูนย์
- ตรวจสอบการต่อเข็ม ในกรณีที่เข็มต่อด้วยการเชื่อมต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าการเชื่อมสมบูรณ์เพื่อป้องกันรอยต่อหลุดในขณะที่ตอกเสาเข็มท่อนที่ 2
- ตรวจสอบ Blow Count เพื่อให้งานได้มาตรฐานตามที่กำหนด
- การตอกเสาเข็มใกล้อาคารข้างเคียง ก่อนตอกควรตรวจสอบอาคารข้างเคียงว่ามีรอยแตกร้าวอยู่เดิมหรือไม่ หากมีอยู่แล้วควรถ่ายรูปบันทึกไว้แล้วให้เจ้าของอาคารบันทึกเป็นหลักฐาน
งานฐานรากและงานตอม่อ
กระบวนการในการทำงานฐานราก แบ่งได้ดังนี้
1.งานขุดดินฐานราก ขนาดหลุมจะต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะนำแบบหล่อฐานรากลงไปวางได้และสามารถทำงานรอบ ๆ ฐานรากได้สะดวก
2. การตัดหัวเข็ม ในกรณีที่เข็มไม่สามารถตอกได้จนมิด จะต้องทำการตัดหัวเข็มในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถหล่อฐานรากได้อย่างเหมาะสม
3. งานหาศูนย์เสา ศูนย์เสา คือจุดศูนย์กลางของเสาเข็ม งานหาศูนย์เสาทำได้ 2 แบบ คือ หาศูนย์เสาโดยการใช้กล้อง หรือด้วยการขึงเอ็น
4. เหล็กเสริมสำหรับฐานราก ต้องทำการตรวจขนาดของเหล็กตะแกรง เหล็กเสา ระยะการผูก การงอ ในกรณีที่มีการทาบต่อเหล็กต้องทำการตรวจเช็คระยะทาบให้ถูกหลักวิศวกรรม ตรวจระยะคอนกรีตหุ้มเหล็ก การหนุนลูกปูน ก่อนที่จะทำการประกอบแบบหล่อ
5. การเข้าแบบฐานราก
6. การตรวจสอบการเทคอนกรีต
พื้น คาน เสา
พื้น ทำหน้าที่รับน้ำหนักบรรทุกลงสู่คาน
คาน คือส่วนรับโครงสร้างในแนวนอน จะทำหน้าที่รับนำ้หนักจากพื้น
เสา คือโครงสร้างที่อยู่ในแนวตั้ง ตั้งฐานรากขึ้นมามีหน้าที่รับถ่ายน้ำหนักจากคาน การเรียกชื่อของเสาเรียกตามลักษณะ ดังนี้
- เสาตอม่อ เป็นเสาส่วนที่อยู่บนฐานรากใต้คานคอดิน
- เสารับพื้น เป็นเสาระหว่างชั้น (ชั้นที่ 1, 2, 3)
- ดั้ง เป็นเสาเล็ก ๆ อยู่บนอะเสหรือคานรับหลังคา ทำด้วยคนกรีตเสริมเหล็ก ทำหน้าที่รับน้ำหนักหลังคา
งานก่อฉาบ งานผนัง
งานก่อ
- ตรวจสอบแนวที่จะทำการก่ออิฐ ตีเส้นแนวให้ตรง
- ปลายอิฐที่ก่อชนเสา หรือเสาเอ็น จะต้องเสียบเหล็กขนาด 6 mm. และใช้อีพ็อกซี่ทุกระยะไม่เกิน 60 cm. ต้องรดน้ำที่เสาและพื้นให้เปียกก่อนทำการก่อ
- ตรวจสอบเสาเอ็น ระยะห่างขนาดและเหล็กเสริม ในพื้นที่ก่อสร้างที่กว้างมาก ๆ ต้องมีเอ็นแนวนอนทุก 2 เมตรและแนวดิ่ง ทุก 3 เมตร
- ตรวจสอบส่วนผสมของปูนก่อ และชนิดของซีเมนต์ที่นำมาก่อ
- ตรวจสอบแนวกำแพงผนังที่ก่อ ระดับความสูง ดิ่ง ฉาก และรอยต่อให้เป็นไปตามแบบ
- ตรวจสอบการตั้งวงกบ การยึดวงกบ ดิ่ง ฉาก และระดับ พร้อมทั้งป้องกันวงกบจากน้ำปูนก่อนการติดตั้ง
งานฉาบ
การฉาบผนังจะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะหากฉาบไม่ดีจะเกิดรอยแตกที่ผนังและยากต่อการซ่อมแซมให้สวยงาม จึงมีสิ่งที่ต้องตรวจสอบดังนี้
- ตรวจสอบระบบท่อต่าง ๆ ที่ฝังในผนังก่อนลงมือฉาบ เพื่อจะไม่ต้องมากรีดผนังภายหลังจากฉาบปูนเรียบร้อยแล้ว
- ตรวจสอบการปิดลวดกรงไก่ตรงรอยต่อระหว่างคอนกรีตโครงสร้างกับอิฐมวลเบา รอยต่อที่เกิดจากการฝังท่อ และมุมของวงกบประตูหน้าต่างเพื่อป้องกันการแตกร้าวของผิวฉาบ
- ตรวจสอบผิวหนังที่จะฉาบปูน ผิวคอนกรีตเสริมเหล็ก ต้องทำให้ผิวหยาบเสียก่อนโดยการสะกัดเบา ๆ แล้วใช้แปรงลวดขัดล้างเพื่อให้ปูนฉาบติดแน่นกับส่วนที่เป็นผิวคอนกรีตเสริมเหล็ก
- ตรวจสอบว่าก่อนฉาบปูน ต้องรดน้ำให้ชุ่มตลอดแผงที่ฉาบเพื่อป้องกันผนังดูดน้ำปูนจากปูนฉาบ
- ตรวจสอบส่วนผสมของปูนฉาบ และหากผสมปูนฉาบนานกว่าที่กำหนดไม่ควรนำมาฉาบ (ปูนหมดอายุ) เพื่อป้องกันการหลุดร่อนของปูน
- ตรวจสอบการฉาบปูนที่กรอบไม้หรือโลหะ ต้องชักร่องเพื่อความสวยงามและต้องชักร่องไว้เพื่อช่วยเวลาร้าวตรงรอยต่อ
- ตรวจสอบการฉาบปูนเพดานใต้กันสาด (การเซาะร่องที่บริเวณดังกล่าวจะช่วยกันน้ำได้)
- ตรวจสอบการบ่มปูนฉาบให้มีความชื้นตลอดเวลา 72 ชั่วโมง โดยใช้น้ำพ่นเป็นละออง เพื่อป้องกันการแตกร้าวที่ผิวปูนฉาบ
ขั้นตอนการส่งมอบงานของผู้รับเหมาและการตรวจสอบงานก่อสร้างโครงการก่อนส่งมอบที่นำมาแบ่งปันนี้ เป็นความรู้เบื้องต้นสำหรับเจ้าของโครงการที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบหน้างานโครงการก่อสร้าง ซึ่งถือว่าเป็นโครงการก่อสร้างหลักของอาคารที่มีความสำคัญที่สุด เพราะมีผลต่อความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารและยังรวมไปถึงการก่อสร้างอาคารให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อความสะดวกในการขอใบอนุญาตใช้อาคารและการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมด้วยค่ะ ถ้าโครงการก่อสร้างโรงแรม-รีสอร์ทของคุณมีขนาดเล็กคุณก็สามารถใช้ข้อมูลนี้เป็นแนวทางในการเข้าไปตรวจสอบหน้างานร่วมกับผู้รับเหมาได้ แต่หากโครงการของคุณมีขนาดใหญ่และใช้เงินลงทุนสูงเพื่อความสบายใจของเจ้าของโครงการก็ควรใช้วิศวกรหรือบุคคลที่มีความรู้มาช่วยควบคุมงานจะดีกว่าค่ะ
“เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ คือพลังที่ยิ่งใหญ่”
ขอให้ทุกท่านจงสร้างธุรกิจโรงแรมที่ดี มีคุณภาพเพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยของเรา
หากคุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ และบอกต่อด้วยนะคะ
มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับหลักสูตร เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้
คอร์สอบรมที่ช่วยให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ภายใน 2 วัน
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ