
กฎหมายโรงแรมฉบับใหม่ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมากที่สุดค่ะ เพราะโรงแรมนั้นถือว่าเป็นอาคารสาธารณะประเภทหนึ่งที่มีคนเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก หากคุณคิดจะทำธุรกิจโรงแรมที่พักเพื่อให้ขอใบอนุญาตได้อย่างถูกต้อง คุณจึงต้องรู้วิธีวางแผนระบบความปลอดภัยของโรงแรมให้กับลูกค้าที่เข้ามาพักในโรงแรมอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายควบคุมกำหนดไว้ค่ะ
คลิกอ่านต่อ ที่นี่
ฉันเชื่อว่าคนธรรมดาก็สามารถเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนและมีความสุขได้ ด้วยสูตร (ความรู้ + แรงบันดาลใจ + ความรัก) x ความสุข เพราะความสุข คือสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุด มันมีพลังที่จะช่วยคุณขับเคลื่อนทุกอย่างไปสู่ความสำเร็จตามที่ใจปรารถนา และสูตรนี้คือการแบ่งปันความรู้สำหรับคนที่อยากสร้างธุรกิจโรงแรมของตนเองให้ประสบความสำเร็จตามแนวทางของ A-LISA.NET
ความปลอดภัยของลูกค้าที่เข้าพักในโรงแรมเป็นสิ่งสำคัญและมีส่วนสร้างความพึงพอใจต่อลูกค้าที่เข้าพัก คุณเคยมีเหตุการณ์เข้าไปพักในโรงแรม แล้วพักไปด่าไปไหมค่ะ ? สำหรับฉันเคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นค่ะ และถ้าคุณอยากรู้ว่าการพักไปด่าไปเป็นอย่างไร นั่งลงแล้วอ่านเรื่องราวต่อไปนะคะ ฉันจะเล่าให้ฟัง
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ฉันเดินทางไปเที่ยวที่จังหวัดกาญจนบุรีและเลือกเข้าพักโรงแรมแห่งหนึ่งแถวสะพานข้ามแม่น้ำแคว ด้วยตั้งใจว่าอยากได้ทำเลใกล้สะพานเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปถ่ายรูปและทานข้าวกับเพื่อนในย่านนั้น โรงแรมที่ฉันเลือกเข้าพักเป็นโรงแรมตกแต่งในสไตล์บูติกโฮเต็ลบอกเล่าเรื่องราวของจังหวัดกาญจนบุรีได้เป็นอย่างดี และมีรูปถ่ายที่สวยงามน่าพักอยู่บนเว็บไซต์ต่าง ๆ แถมยังเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันด้วย ทำให้ประหยัดค่าที่พักไปได้ถึง 40%
ฉันเดินเข้าไปเช็คอินในโรงแรมพร้อมกับเพื่อน เมื่อแจ้งชื่อ ลงทะเบียนและสแกน QR Code เสร็จเรียบร้อยแล้ว พนักงานของโรงแรมก็ยื่นคีย์การ์ดให้พร้อมกับแจ้งเบอร์ห้องพัก 304 และบอกว่าได้เข้าไปเปิดแอร์ในห้องพักไว้ให้เรียบร้อยแล้ว เมื่อได้ยินดังนั้นฉันกับเพื่อนก็หันมามองหน้ากันโดยไม่ได้นัดหมายเพราะความรู้สึกประทับใจที่พนักงานใส่ใจแขกที่เข้าพักขนาดนี้
ห้องพักของฉันอยู่บนชั้นสาม เมื่อเราขึ้นลิฟต์มาและเดินออกจากลิฟต์ก็ถึงกับงงเพราะไม่มีลูกศรชี้บอกหมายเลขห้องตรงทางเดิน ว่าต้องเดินไปทางซ้ายหรือขวา เราจึงสุ่มเดินมาด้านขวาและโชคดีที่ห้อง 304 ของเราอยู่ไม่ไกลลิฟต์มากเลยหาง่าย เมื่อเปิดประตูห้องเข้าไปก็ต้องแอบผิดหวังเล็กน้อยเพราะขนาดห้องจริงมันเล็กกว่าภาพถ่ายที่เห็นบนเว็บไซต์มาก แต่ก็ยังให้อภัยเพราะอุณหภูมิห้องที่เปิดแอร์ไว้จนเย็นฉ่ำทำให้อากาศภายในห้องน่าอยู่กว่าภายนอกมาก
ฉันกับเพื่อนจัดการวางกระเป๋าข้าวของต่าง ๆ และเตรียมตัวจะอาบน้ำเพื่อไปตะลุยเที่ยวในตัวเมืองกาญจน์ฯ ปรากฎว่าเมื่อเปิดประตูห้องน้ำเข้าไปเท่านั้นแหละความประทับใจเมื่อแรกพบหายหมดเลย เพราะพื้นห้องน้ำมีน้ำขังเจิ่งนองเฉอะแฉะจนเข้าไปนั่งบนชักโครกไม่ได้ เราจึงโทรฯเข้าเบอร์มือถือของโรงแรมเพื่อจะแจ้งพนักงานโรงแรมแต่ไม่มีผู้รับสาย เพื่อนเลยอาสาเดินไปเรียกพนักงานที่เคาเตอร์ด้านล่างเอง ซึ่งทางโรงแรมก็ยินดีเปลี่ยนห้องใหม่ให้เป็นห้องอยู่บนชั้น 4
เมื่อเข้าไปในห้องพักใหม่ของเรา ฉันก็ถึงบางอ้อสำหรับความใจดีที่พนักงานต้องไปเปิดแอร์เตรียมไว้ให้แขกเพราะแอร์ที่นี่ใช้เวลาทำความเย็นนานมาก ๆ บวกกับอากาศที่ร้อนอบอ้าวอยู่แล้วของเมืองกาญจนบุรีก็ทำให้เนื้อตัวทั้งเหนียวทั้งร้อนและยังหายใจไม่ออกด้วยเพราะอากาศไม่ถ่ายเท ฉันเข้าใจว่าพนักงานที่โรงแรมคงรู้ถึงปัญหาข้อนี้จึงต้องไปเปิดแอร์ไว้ให้ลูกค้าทุกครั้งก่อนที่ลูกค้าจะเข้าเช็คอินแต่ด้วยความไม่รอบคอบจึงลืมสำรวจความเรียบร้อยในห้องน้ำไปด้วย
เมื่อแอร์ไม่เย็นสักทีก็ทำให้ห้องอบอ้าวมาก เราจึงอยากรีบอาบน้ำให้เสร็จแล้วออกไปสูดอากาศข้างนอก ปรากฏว่ายิ่งรีบสถานการณ์ยิ่งแย่เข้าไปอีกเพราะฉันดันไปเดินสะดุดท่อน้ำที่โผล่ออกมาที่พื้นตรงอ่างล้างหน้าจนทำให้หัวแม่โป้งบวม ห้องน้ำของที่นี่ออกแบบสไตล์ลอฟต์ ผนังแบบปูนเปลือยและโชว์โครงสร้างเสา คาน ท่ออย่างชัดเจน ซึ่งคงอยากจะให้เข้ากับสไตล์ของโรงแรม แต่คนออกแบบและเจ้าของคงจะให้ความสำคัญกับงานออกแบบมากไปจนลืมคิดถึงประโยชน์ใช้สอยและพฤติกรรมของแขกที่เข้าพัก ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่แขกจะต้องมายืนแต่งหน้าและแต่งตัว ธรรมชาติของคนส่วนใหญ่เมื่อเดินเข้ามาก็ต้องเพ่งไปที่กระจกคงไม่มีใครก้มลงมองดูที่พื้นก่อนโดยเฉพาะฉันที่เป็นคนไม่ค่อยจะระมัดระวังเท่าไหร่จึงเดินสะดุดท่อตรงนี้ไปหลายทีจนนิ้วที่บวมอยู่แล้วเจ็บระบบไปหมด ซึ่งแต่ละครั้งที่สะดุดก็นึกด่าเจ้าท่อน้ำนี้ไปด้วยทุกครั้งที่มาอยู่ผิดที่ผิดเวลา
เวลาผ่านไปร่วมสามสิบนาที ฉันกับเพื่อนอาบน้ำแต่งตัวเสร็จและจะออกไปข้างนอกกันแล้ว แต่เครื่องปรับอากาศภายในห้องก็ยังไม่เย็นได้อย่างใจเสียที ขนาดปรับลดอุณหภูมิลงต่ำเป็น 18 องศาแล้วนะ ฉันจึงตัดสินใจเสียบคีย์การ์ดเปิดแอร์ทิ้งไว้อย่างนั้นเพราะกลัวว่าเมื่อกลับมาจากข้างนอกแล้วเครื่องปรับอากาศภายในห้องจะเย็นช้าเหมือนเดิม ซึ่งก็ทำให้โรงแรมต้องสิ้นเปลืองไฟโดยสูญเปล่ามากขึ้น
ฉันนำเรื่องราวประสบการณ์เข้าพักที่โรงแรมแห่งนี้มาแบ่งปัน ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้โรงแรมเสื่อมเสียนะคะ เพียงแค่อยากยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างชัดเจนถึงความสำคัญและความใส่ใจในเรื่องของความปลอดภัยที่ต้องคำนึงควบคู่ไปกับการออกแบบโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็กด้วยค่ะ เพราะถึงแม้ว่าการออกแบบก่อสร้างและตกแต่งโรงแรม-รีสอร์ทนั้น นอกจากจะเน้นที่ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สวยงามและสะดุดตาแล้วสิ่งสำคัญที่เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทควรให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการวางแผนจัดการความปลอดภัยให้กับแขกที่เข้ามาพักโรงแรมทั้งด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
เนื่องจากโรงแรม-รีสอร์ทเป็นสถานที่ที่มีแขกหมุนเวียนมาใช้บริการอยู่เสมอ ดังนั้นเพื่อป้องกันเหตุสุดวิสัยไม่คาดคิดที่จะเกิดขึ้นกับแขกและป้องกันเหตุการณ์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจโรงแรมของเรา พลอยจะทำให้ธุรกิจของเราต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงและมัวหมองไปด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงแรม-รีสอร์ทจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยควบคู่ไปกับการออกแบบที่สวยงามเพื่อให้แขกที่มารับบริการได้รับความปลอดภัยและพักผ่อนได้อย่างเป็นสุข ไม่พักไปด่าไปเหมือนกับประสบการณ์ที่ฉันได้นำมาแบ่งปันค่ะ
วิธีวางแผนเรื่องความปลอดภัยให้กับลูกค้าที่เข้าพักในโรงแรม
การวางแผนจัดการด้านความปลอดภัยของโรงแรม-รีสอร์ท แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
การออกแบบและบำรุงรักษาอาคาร
1.1 การออกแบบผังภายในและภายนอกอาคาร
เป็นขั้นตอนที่เจ้าของกิจการจะต้องวางแผนกับสถาปนิกที่ออกแบบงานโครงการของเรา เริ่มต้นจากวางแผนกับคำถามว่าพนักงานและแขกจะต้องรู้ว่าทางเดินของตนเองอยู่ตรงไหน และจะไปต่อยังที่ไหน จอดรถตรงไหน ขนของลงได้ที่ไหน จุดลงทะเบียนเข้าพักอยู่ตรงไหน คำถามเหล่านี้จะช่วยกำหนดผังภายในและภายนอกอาคารโดยมีประเด็นหลักของการออกแบบคือทางเดินทางๆจะต้องปลอดภัยทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งมีหลักใหญ๋ใจความสำคัญคือ
- ทางเข้า-ออกที่ติดกับถนน ควรมีขนาดกว้างอย่างน้อย 7-8 เมตร หากเป็นการจราจรแบบรถสวน หรือขนาด 3.6 เมตรหากเป็นรถทางเดียว ถนนควรมีเครื่องหมายแสดงทิศทางไปสู่พื้นที่สำคัญๆ ถนนที่รถวิ่งสวนทางต้องมีการทาสีกลางถนนเพื่อแบ่งถนน และควรมีตัวหนอนขวางถนนเพื่อลดความเร็ว
- สถานที่จอดรถ แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนคือ พื้นที่สำหรับยานยนต์และคนเดินเท้า โดยทางเดินเท้าไม่ควรลาดเอียงเกิน 6 เปอร์เซ็นต์ เพื่อป้องกันการลื่นล้มเมื่อถนนเปียก ที่จอดรถกลางแจ้งควรมีไฟฟ้าและกล้องวงจรปิดอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการโจรกรรม
- ทางเดินและการเปลี่ยนระดับ เมื่อเข้าใกล้ตัวอาคารทางเดินมักมีการเปลี่ยนระดับ พื้นควรมีความลาดเอียงที่คนพิการสามารถใช้ได้ ผิวทางเดินควรฉาบด้วยวัสดุที่ไม่ลื่น บันไดควรมีราวจับที่แข็งแรง ทางเข้าหลักของโรงแรมควรมีถนนยาวประมาณ 12 เมตรระดับเดียวกับกับประตูทางเข้า เพื่อให้ง่ายต่อการป้องกันทรัพย์สิน การขนย้ายสัมภาระของแขกและไม่เสี่ยงต่อการสะดุดหกล้ม
- อาคารจอดรถและอู่รถ ควรออกแบบให้ปลอดภัย จุดขึ้น-ลง เช่น ลิฟต์หรือบันไดควรเป็นจุดเปิดเผย ไม่ใช่มุมอับเสา
1.2 บริเวณสาธารณะ
- ทางเข้าและทางไปสู่ล็อบบี้ ปูด้วยวัสดุที่ป้องกันการลื่นล้มหรือสะดุด ประตูทางเข้าควรปิด-เปิดง่าย พื้นโรงแรมควรเรียบสม่ำเสมอ บันไดมีราวสูงพอสมควร แสงที่บันได้ต้องเพียงพอ มีระบบกล้องวงจรปิดเพื่อประกันความปลอดภัย
- ล็อบบี้ พื้นล็อบบี้ต้องไม่ลื่น ลิฟต์ควรอยู่ในสายตาของพนักงานเพื่อความปลอดภัย หากโรงแรมมีบันไดเลื่อน ควรมีลักษณะที่ป้องกันอวัยวะหรือเครื่องแต่งกายของผู้ใช้เข้าไปติดข้างในได้ พร้อมมีปุ่มกดให้เครื่องยนต์หยุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
- พื้นทั่วๆไป ห้องประชุม ห้องสุขา และบริเวณโทรศัพท์สาธารณะต้องไม่ลื่น มีแสงสว่างเพียงพอ รูปภาพหรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆควรติดตั้งอย่างแน่นหนา ห้องน้ำสาธารณะควรแยกกันระหว่างชาย-หญิง และห้องประชุมต้องปลอดภัยจากการโจรกรรม
- ศูนย์สุขภาพ อุปกรณ์ออกกำลังกายต่างๆควรมีคุณภาพดี มีคำแนะนำในการเล่นที่ชัดเจน ควรเป็นห้องกระจก มีสัญญาณฉุกเฉินเรียกพนักงานได้ ป้ายคำแนะนำหรือข้อควรระวังต้องเห็นอย่างชัดเจน
- สระว่ายน้ำ ไม่ควรมีกระดานกระโดดน้ำ ระดับน้ำควรมีความลึกประมาณ 1.35 เมตร มีบันไดขึ้น-ลง มีระบบ(หรือพนักงาน)รักษาความปลอดภัย มีตัวเลขบอกความลึกของสระและมีแสงสว่างเพียงพอ
ความปลอดภัยในห้องน้ำ
มีข้อควรพิจารณา 4 ประการ คือ
- อุณหภูมิของน้ำอุ่น ไม่ควรเกิน 49 องศาเซลเซียส
- ปูพื้นด้วยวัสดุกันลื่น หรือลดการลื่น ฝักบัวและพื้นต้องสะอาด สวยงามและสะดวกในการใช้ กระจกควรเป็นกระจกที่เคลือบเพื่อลดความรุนแรงเมื่อแตกหัก
- มีระบบตัดไฟเพื่อป้องกันไฟดูด ปลั๊กเสียบที่โกนหนวด ไดร์เป่าผมและพัดลม ควรติดตั้งบนฝาผนังห้อง
ความปลอดภัยจากอัคคีภัย
ควรมีการดำเนินการ ดังนี้
- มีการป้องกันอัคคีภัย ถือเป็นหน้าที่ของทุกคน พื้นที่ครัวเป็นส่วนเสียงต่อการเกิดอัคคีภัยมากที่สุด จึงควรหมั่นตรวจตราท่อแก๊สเป็นประจำ
- การตรวจตราอัคคีภัย อัคคีภัยสามารถถูกตรวจพบได้ทั้งการสังเกตของมนุษย์และใช้เครื่องมือในการช่วยตรวจตรา เช่น เครื่องตรวจจับความร้อน เครื่องฉีดน้ำอัตโนมัติ
- การแจ้งเรื่องอัคคีภัย คือวิธีการ นโยบายและวิธีการปฏิบัติตนกรณีเพลิงไหม้ เช่น นโยบายการแจ้งข่าวเพลิงไหม้ให้พนักงานและแขกทราบ การติดข้อแนะนำกรณีเพลิงไหม้ไว้ที่ประตูข้องพัก เพื่อให้แขกตระหนักถึงทางหนีไฟที่ใกล้ที่สุด และข้อแนะนำนี้ควรมีอธิบายด้วยภาษาต่างประเทศที่สำคัญๆ นอกจากนี้โรงแรมควรตรวจสอบการทำงานของสัญญาณเตือนภัยเป็นระยะๆว่ายังใช้การได้ดีอยู่หรือไม่ และไม่ควรวางสิ่งของกีดขวางทางหนีไฟ
- การดับไฟ ในโรงแรมควรมีเครื่องมือควบคุมและดับไฟอย่างเพียงพอ ได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และบุคลากรต้องรู้จักใช้เครื่องมือดังกล่าวนี้ด้วย
- การควบคุมเพลิง โรงแรมควรมีเครื่องมือควบคุมไปและควันไฟไม่ให้แพร่กระจายมากขึ้น เช่น เครื่องปล่อยน้ำอัตโนมัติที่จะปล่อยน้ำเมื่อมีความร้อง(Sprinkler)
กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยของโรงแรม
ควรมีมาตรการ ดังนี้
- กุญแจประตูระบบคีย์การ์ด การใช้กุญแจประตูห้องพักแขกด้วยระบบคีย์การ์ดเป็นมาตรฐานใหม่ของธุรกิจโรงแรมในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีโรงแรมจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้นำมาใช้เพิ่มความปลอดภัยให้กับลูกค้าของตนเอง ระบบการปิดประตูห้องพักแขกด้วยระบบคีย์การ์ด เป็นระบบที่ประกอบไปด้วยช่องสำหรับเสียบหรืออุปกรณ์สำหรับแตะบัตรที่มีแถบแม่เหล็กหรือหน่วยความจำสำหรับเก็บรหัสข้อมูลอยู่ภายในบัตรเพื่อใช้เป็นรหัสส่วนตัวของลูกค้าแต่ละคนที่ใช้ในการเปิดประตูห้องพักของตนเองและเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบอื่นๆ ซึ่งระบบนี้สามารถที่จะเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่ระบบ PMS ได้โดยตรง
- พนักงานรักษาความปลอดภัย โรงแรมควรมีพนักงานรักษาความปลอดภัยที่คอยสอดส่องและตรวจตราโรงแรมอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันเหตุร้ายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ทั้งจากภายนอกและภายในโรงแรมเอง
- กล้องวงจรปิด ระบบกล้องวงจรปิดนับว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญในการรักษาความปลอดภัยที่มีใช้กันอยู่โดยทั่วไป รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยภายในโรงแรมทั้งหลายด้วย การติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดภายในโรงแรม นอกจากจะเป็นการป้องกันเหตุอาชญากรรมทั้งหลายที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับลูกค้าที่มาพักภายในโรงแรมแล้ว ยังสามารถบันทึกข้อมูลไว้เพื่อนำมาใช้ในภายหลังได้หากพบว่าเกิดเห็นการณ์ที่ผิดปกติขึ้นภายในโรงแรม โดยปกติแล้วโรงแรมจะติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดไว้ให้ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะที่บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้
- ไฟสำรองฉุกเฉิน โรงแรมควรที่จะมีไฟฉุกเฉินติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ภายในบริเวณโรงแรม และสามารถใช้ในการให้แสงสว่างฉุกเฉินได้เมื่อกระแสไฟฟ้าดับเพื่อป้องกันเหตุโกลาหล หรือเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นกับแขกที่มาพักภายในโรงแรม และของพนักงานภายในโรงแรมเอง บางโรงแรมอาจจะจัดให้มีไฟฉายที่มีระบบชาร์จไฟอัตโนมัติพร้อมใช้งานไว้ในห้องพักแขก บางโรงแรมที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีกระแสไฟฟ้าขัดข้องบ่อยๆ อาจจะมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองไว้ใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าในบริเวณที่สำคัญ และอุปกรณ์ต่างๆ ภายในโรงแรมที่มีความสำคัญต่อความปลอดภัย ของลูกค้าในยามฉุกเฉิน สำหรับโรงแรมที่มีขนาดใหญ่ที่จัดสร้างได้มาตรฐานจะจัดให้มีเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ไว้ภายในโรงแรม และสามารถเดินเครื่องใช้งานได้โดยอัตโนมัติทันทีที่กระแสไฟฟ้าที่จ่ายมาจากภายนอกเกิดเหตุขัดข้องที่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับทุกส่วนของโรงแรมเหมือนปกติ
- คู่มือการปฏิบัติสำหรับเหตุฉุกเฉิน โรงแรมควรที่จะต้องจัดทำแผนและคู่มือการปฏิบัติของพนักงานโรงแรมสำหรับเหตุฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในโรงแรม และทำการฝึกอบรมพนักงานต่างๆ ภายในโรงแรมที่เกี่ยวข้องกับแผนการปฏิบัติสำหรับเหตุฉุกเฉินต่างๆ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติได้ทันท่วงทีโดยไม่ต้องรอการสั่งการจากฝ่ายบริหาร
- ตู้นิรภัยส่วนตัวในห้องพักพักแขก เป็นมาตรการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับทรัพย์สินของแขกที่มาพักในโรงแรมเพิ่มเติมภายในห้องพักแขก นอกเหนือไปจากการมีตู้นิรภัยส่วนกลางไว้ให้บริการแก่ลูกค้าของโรงแรมที่บริเวณ Front Office ของโรงแรม ตู้นิรภัยส่วนตัวที่จัดไว้ภายในห้องพักแขกควรที่จะมีขนาดที่ใหญ่เพียงพอที่จะใส่คอมพิวเตอร์แบบโน้ตบุ๊คได้ และมีการตั้งรหัสลับส่วนตัวสำหรับการปิด และเปิดได้ด้วยตนเอง
- ระบบคีย์การ์ดสำหรับการใช้งานลิฟต์โดยสารของลูกค้า โรงแรมสามารถเพิ่มมาตรการความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการภายในโรงแรมโดยการติดตั้งระบบคีย์การ์ดภายในลิฟต์โดยสารของลูกค้าที่ใช้โดยสารขึ้นไปยังชั้นที่เป็นห้องพักแขกที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ PMS ของโรงแรม เพื่อเป็นการป้องกันบุคคลภายนอกขึ้นไปยังบริเวณห้องพักของแขกโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งลิฟต์โดยสารที่ติดตั้งระบบนี้ไว้จะสามารถใช้โดยสารขึ้นไปยังชั้นที่เป็นห้องพักแขกได้ก็ต่อเมื่อผู้ใช้นำเอาคีย์การ์ดที่ทางโรงแรมออกให้และยังใช้การได้อยู่สำหรับเปิดห้องพักแขกเสียบเข้าไปในช่องหรือแตะที่อุปกรณ์สำหรับอ่านรหัสที่จัดไว้แล้วจึงจะสามารถกดปุ่มเลือกชั้นที่ต้องการขึ้นไปได้
นอกจากการวางแผนความปลอดภัยและมาตรการรักษาความปลอดภัยของโรงแรมที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว คุณที่เป็นเจ้าของกิจการโรงแรมที่พักก็ควรศึกษาเพิ่มเติมอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วยค่ะ เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายๆ ข้อ ที่มีการบัญญัติไว้เป็นกฏกระทรวงข้อบังคับในการดำเนินธุรกิจโรงแรมที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งมีผลต่อการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม และรวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่เป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้ในต่างประเทศ แต่มีผลต่อการส่งลูกค้ามาใช้บริการโรงแรมต่างๆ ภายนอกประเทศของเราค่ะ
***ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ การโรงแรม สนง.คณะกรรมการอาชีวศึกษา ด้วยค่ะ
อ่านเพิ่มเติม :
ข่าวดีมาแล้ว! กฎหมายโรงแรมฉบับใหม่ ที่ช่วยให้เจ้าของโรงแรมที่พักขนาดเล็กขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ง่ายขึ้น คลิกที่นี่
นี่เป็นความรู้และแรงบันดาลใจที่ฉันนำมาแบ่งปันให้กับคุณค่ะ ส่วนความรักและความสุขคุณต้องเติมใส่ลงไปเองนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปค่ะ
กฎกระทรวง การกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2566

กฎกระทรวง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566

กฏกระทรวงฉบับที่ 55

กฎกระทรวงฉบับที่ 33

กฎกระทรวงฉบับที่ 6

“คุณสามารถเปลี่ยนตัวเองจากคนธรรมดาให้กลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ แค่เพียงมีความรู้ มีแรงบันดาลใจ และมีความสุข ฉันอยู่ที่นี่เพื่อจะแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ให้กับคุณค่ะ”
มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับหลักสูตร เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้
คอร์สอบรมที่ช่วยให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ภายใน 2 วัน
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ