718
.
การพักผ่อนที่ดีที่สุด คือ การนอนหลับ ดังนั้นแล้วสิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยคือที่นอนคุณภาพดี ที่จะทำให้คุณหลับได้อย่างสนิทตลอดคืน การได้หลับสนิทจะทำให้ตื่นนอนในตอนเช้าอย่างสดชื่น กระฉับกระเฉงพร้อมลุยสำหรับวันใหม่ ในเมื่อที่นอนมีความสำคัญซะขนาดนี้ ฉันจะอยู่เฉยได้อย่างไร
ในบทความนี้ ฉันจึงได้ไปค้นคว้าหาข้อมูลของที่นอนประเภทต่างๆ ข้อดี ข้อเสียเพื่อนำมาแบ่งปันให้กับทุกท่านที่สนใจเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อที่นอนคุณภาพดีให้เหมาะสมกับการใช้งานโดยเฉพาะ เจ้าของกิจการโรงแรม-รีสอร์ท ที่นอนจัดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยและต้องเอาใจใส่เป็นอย่างมาก เพื่อส่งมอบประสบการณ์พักผ่อนที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า
คลิกอ่านต่อ ที่นี่
มาเริ่มรู้จักกับประเภทที่นอนกันค่ะ
- ที่นอนนุ่น
ข้อดีคือคุณสามารถยกที่นอนมาผึ่งแดดได้เพราะที่นอนแบ่งเป็นสามท่อนต่อกัน แต่ต้องระวังให้ดีว่าต้องซื้อกับผู้ผลิตที่ใช้แต่นุ่นใหม่ 100%เท่านั้น ไม่ปนเศษผ้า เศษฝ้ายหรือวัสดุอื่น และต้องเลือกที่ใช้ผ้าไหมญี่ปุ่นจะทนกว่าผ้าย่นหนังไก่(ข้อสังเกตผ้าไหมญี่ปุ่นจะเลื่อมและมันวาวปักซ่อนลายดอกไม้อยู่ในเนื้อผ้าแต่ ผ้าย่นหนังไก่จะเป็นลายดอกไม้แดงๆและเป็นขน) ที่สำคัญที่นอนนุ่นแท้จะตบดูจะแน่นมากแต่เวลายกดูจะเบา ที่สำคัญถ้าคุณไม่ใช้เตียงนอนไม่แนะนำที่นอนนุ่นแบบต่อสามท่อนเพราะไม่มีขอบเตียงบังคับที่นอนจะขยับไม่ติดกัน
- ที่นอนฟองน้ำใยมะพร้าว
ข้อดีคือราคาไม่แพงมาก ปัจจุบันแบ่งที่นอนประเภทนี้เป็นสามแบบ
- ที่นอน 1 ระบบ คือใยมะพร้าวล้วน ข้อดีคือจะยุบยาก แต่จะเหมาะสำหรับคนนอนที่นอนแข็งได้ ความหนามีตั้งแต่ 4 นิ้ว 6 นิ้วและ 8 นิ้ว กรณีใยมะพร้าวอย่างดี หนาเต็ม 8 นิ้ว ราคาพอพอกับที่นอนสปริงเลยทีเดียว
- ที่นอน 2 ระบบคือที่นอนที่ใช้วัสดุอย่างละครึ่งหรืออาจจะไม่เท่ากันก็ได้ แต่ประกอบด้วยฟองน้ำและใยมะพร้าว นี่แหละคือที่มาของปัญหาที่นอนยุบ เช่นที่นอนฟองน้ำใยมะพร้าว หนา 6 นิ้ว สองระบบ อาจจะใช้ใยมะพร้าว 3นิ้ว ฟองน้ำ 3 นิ้ว หรือใย 4 นิ้ว ฟองน้ำ 2 นิ้ว เวลาที่นอนยุบเกิดจากในส่วนฟองน้ำที่ไม่ได้คุณภาพยุบก่อนทำให้ใยมะพร้าวที่ติดกันอยู่หย่อนลงทำให้ที่นอนเป็นหลุมหรือแอ่งนั่นเองค่ะ ดังนั้นถ้าจะเลือกใช้ที่นอนประเภทนี้ต้องคำนึงถึงคุณภาพของฟองน้ำให้มากมาก
- ที่นอน3 ระบบ วัสดุภายในจะเป็นลักษณะ แซนด์วิช คือมีใยมะพร้าวอยู่ตรงกลาง บนและล่างจะเป็นฟองน้ำ ที่นอนประเภทนี้อยู่ที่การจัดวาง ขนาดความหนาและเกรดของใยและฟองน้ำถ้าเหมาะสมก็จะไม่ค่อยเกิดอาการที่นอนยุบเหมือนประเภท 2 ระบบ
- ที่นอนสปริง
.
ที่นอนสปริงเป็นที่นิยมกันมาก เทคโนโลยีของสปริงมาจากเมืองนอก กรณีที่ใช้ลูกสปริงที่ได้มาตรฐานและจัดวางวัสดุได้มีคุณภาพ ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุด ส่วนใหญ่โรงแรม รีสอร์ท จะใช้ที่นอนสปริงทั้งนั้น เพราะที่นอนสปริงมีความทนทานกว่าที่นอนประเภทอื่น ถ้าต้องเปลี่ยนบ่อยๆคงขาดทุนกันพอดีค่ะ ราคาของที่นอนสปริงจะถูกกำหนดด้วย ตัวโครงสร้าง นอนสปริงเริ่มต้นที่ 8 นิ้วขึ้นไป เพราะถูกบังคับด้วยตัวลูกสปริงที่สูงประมาณ 5-6 นิ้วแล้ว ผ้าที่หุ้มที่นอน ตามโรงแรมจะใช้ผ้าริ้วเทา เพราะค่อนข้างทน (คล้ายๆผ้ายีนส์แต่บางกว่าและเป็นทางยาวสีเทาขาว)
ประเภทของสปริงชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบที่นอนสปริง
1.1 สปริงแบบบอนแนลล์ (Bonnell) เป็นสปริงแบบแรกที่คิดค้นขึ้น รูปทรงคล้ายนาฬิกาทราย จุดอ่อนคือการยึดสปริงแต่ละลูกเข้าเป็นสปริงที่นอนทั้งหลังได้ไม่แน่นเท่าที่ควร ขดลวดสปริงจึงล้มง่าย ทำให้เกิดเสียงเสียดสี
1.2 สปริงแบบออฟเซ็ท (Offset)เป็นการพัฒนามาจากแบบบอนแนลล์ มีความแข็งแรงกว่าและไม่มีเสียงเสียดสีของสปริง แต่จุดอ่อนคือ มีความแข็งกระด้าง ไม่ยืดหยุ่นต่อการรองรับน้ำหนักร่างกายของ ผู้นอน
1.3 สปริงแบบออฟเซ็ทปลายเปิด (Open offset) เป็นการพัฒนาต่อจากออฟเซ็ทแต่สามารถลดความกระด้างและมีความยืดหยุ่นต่อการรองรับน้ำหนักได้ดี
1.4 สปริงแบบสวมในถุงผ้าหรือพ๊อกเก็ตสปริง (Pocket Spring) สปริงจะผูกในถุงผ้าเป็นลูก ๆ ติด ๆ กัน ทำให้สปริงแต่ละลูกสามารถยืดหรือหดได้อย่างเป็นอิสระต่อกัน ไม่มีปัญหาเวลาคนนอนข้าง ๆ พลิกตัว มีความยืดหยุ่นในการรองรับน้ำหนัก รวมทั้งโค้งเว้าสอดรับกับสรีระร่างกายได้ดี สปริงชนิดนี้จึงมีราคาแพง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงจากถุงผ้าที่หุ้ม
1.5 สปริงแบบต่อเนื่อง เป็นการดัดแปลงแนวคิดที่ว่า สปริงชนิดข้างต้นต้องใช้แรงงานคนประกอบ อาจเกิดความผิดพลาดในการประกอบได้ จึงมีแนวคิดในการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติที่มีมาตรฐานสูงในการประกอบสปริงทั้งหลัง และมักใช้ขดลวดที่มีขนาดเล็ก และมีความเหนียว เพราะสามารถขึ้นรูปเป็นสปริงและถักทอได้ง่าย
การเสริมขอบที่นอนสปริงให้แข็งแรง ปัจจุบันมี 2 ระบบ
2.1 ระบบแหนบหรือเอชการ์ด (Edge Guard) ตัวแหนบเป็นรูปตัวอักษร Z ตัวใหญ่ หรือตัวอักษร E ตัวใหญ่
2.2 การเสริมด้วยแถวของสปริงซ้อนกันเป็น 2 แถว วิธีนี้จะดีกว่าระบบเอชการ์ด เพราะจะได้ทั้งความแข็งแรงทนทานและไม่กระด้างเหมือนระบบแหนบ
.
จะรู้ได้อย่างไรว่าสปริงแบบไหนดีกว่ากัน?
- ประเภทหรือลักษณะของสปริงที่ใช้เป็นแบบบอนแนลล์ แบบออฟเซ็ท แบบปลายเปิด แบบ Pocket Spring หรือแบบต่อเนื่อง ซึ่งในแต่ละแบบจะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป
- ความสูงของขดลวดสปริงที่นอน หากขดลวดสปริงยิ่งสูงก็จะยิ่งมีช่วงการยืดหยุ่นต่อการรองรับน้ำหนักได้ดี โดยมาตรฐานขดลวดสปริงควรมีความสูงไม่ต่ำกว่า 6 นิ้ว
- จำนวนรอบเกลียวของขดลวดสปริงที่นอน หากขดลวดสปริงที่มีรอบเกลียวมาก ความยืดหยุ่นและความทนทานจะดีกว่าขดลวดสปริงที่มีระบบเกลียวน้อยกว่า
- คุณภาพของเส้นลวดสปริง เส้นลวดสปริงที่ดีจะต้องมีลักษณะเหนียวคืนตัวได้ดี ไม่แข็งกระด้างหรืออ่อนเกิน
- จำนวนและขนาดของเส้นลวดสปริง จะต้องสัมพันธ์กันเสมอ หากต้องการเพิ่มจำนวนขดลวดสปริงต่อสปริงที่นอน 1 หลังให้มากขึ้น ก็ต้องลดขนาดของเส้นลวดสปริงให้เล็กลงเพื่อให้ได้สปริงที่นอนที่มีความแข็งแรงแต่ไม่กระด้าง
ข้อคิดประกอบการตัดสินใจเมื่อจะเลือกซื้อที่นอนสปริง
- เนื่องจากสปริงที่ใช้มีหลายประเภทดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งแต่ละประเภทจะมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกันไป ผู้บริโภคสามารถเลือกให้เหมาะสมกับตนตามคุณสมบัติที่ต้องการ
- วัสดุที่รองรับน้ำหนักผู้นอน ถ้าเป็นแผ่นยางพาราจะมีคุณภาพดีกว่าในเรื่องการรับน้ำหนัก แต่จะมีราคาสูงกว่าผ้าฝ้ายอัด หรือฟองน้ำ
- ผ้าหุ้มที่นอนชั้นนอกสุดของที่นอน ควรเลือกใช้ผ้าที่มีส่วนผสมของฝ้ายหรือวิสโคสหรือเรยอน ในปริมาณสูง ๆ เพื่อผิวสัมผัสที่นุ่มลื่น ระบายอากาศได้ดี ซึ่งจะมีราคาสูง แต่ถ้ามีส่วนผสมของไนลอนหรือโพลีโพรทีลีนในปริมาณ สูงผ้าจะมีลักษณะหยาบ ระบายอากาศไม่ดี มีราคาถูก สังเกตจากเนื้อผ้าที่มีแววสะท้อนแสงจะมีส่วนผสมของโพลีโพรทีลีนในปริมาณสูง
- ความคิดที่ว่าที่นอนนุ่มไม่ดี จะทำให้ปวดหลังได้นั้น ไม่ถูกต้องเสมอไป สาเหตุจากที่นอนนิ่มถ้าเป็นเพราะสปริง เมื่อใช้ไประยะหนึ่งสปริงย่อมเกิดความอ่อนล้ายุบตัว ก็อาจทำให้ปวดหลังได้ แต่หากที่นอนนุ่มเพราะซื้อวัสดุรองรับนุ่ม โดยมีสปริงที่เป็นแกนกลางของที่นอนแข็งแรง จะไม่ทำให้ปวดหลัง โดยทั่วไปร่างกายของเราขณะนอนจะมีแรงกดทับบริเวณไหล่ และสะโพก ร่างกายของเราจึงต้องการที่นอนที่มีลักษณะนุ่มเพราะชั้นวัสดุรองรับทำหน้าที่เป็นเบาะให้ร่างกาย
- หากจะให้ที่นอนมีความนุ่มสบาย และอายุการใช้งานเต็มประสิทธิภาพ จะต้องวางบนบ๊อกสปริงเท่านั้น เพราะบ๊อกสปริงทำหน้าที่เป็นโช๊คอัพให้กับที่นอนสปริง ดูดซับแรงกดที่ถ่ายทอดผ่านที่นอนสปริงสู่บ๊อกสปริงไม่ให้สะท้อนกลับสู่ร่างกายผู้นอน จึงทำให้ที่นอนสปริงยืดหยุ่น นุ่มสบายยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการดูดซับแรงกดเป็นการคลายความเครียดของสปริงทำให้สปริงมีอายุการใช้งานยืดยาว
เมื่อรู้จักประเภทของที่นอน ข้อดี ข้อเสีย และคุณสมบัติของที่นอนแต่ละประเภทแล้ว หวังว่าทุกท่านคงจะเลือกที่นอนคุณภาพได้อย่างเหมาะสมกับตัวเองและประโยชน์ใช้สอยนะค่ะ เพื่อให้การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่แท้จริง ตื่นนอนตอนเช้าอย่างกระปรี้กระเปร่า เต็มไปด้วยพลังและแรงบันดาลใจอย่างเต็มเปี่ยม
“เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ คือพลังที่ยิ่งใหญ่”
ขอให้ทุกท่านจงสร้างธุรกิจโรงแรมที่ดี มีคุณภาพเพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยของเรา
เพื่อแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจ ฝากกดไลค์ กดแชร์ และบอกต่อด้วยนะคะ
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
➡ สมัครด่วน (รับจำนวนจำกัด)

มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ

Line ID: @a-lisa.net