
ร.ร.3 และ ร.ร.4 เอกสารนี้มีความสำคัญกับธุรกิจโรงแรมอย่างไร? และคุณรู้ไหมคะว่าหากเจ้าของโรงแรมละเลยไม่จัดทำเอกสาร ร.ร.3 และ ร.ร.4 จะมีโทษปรับและอาจมีโทษสูงสุดถึงขั้นยึดใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ค่ะ
คลิกอ่านต่อ ที่นี่
จากประสบการณ์ของฉันที่ได้รู้จักกับเจ้าของธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็กหลายที่ได้เปิดให้บริการมานานแล้วหลายแห่งพบว่ามีหลายท่านที่ละเลยและบางท่านก็ขาดความรู้เกี่ยวกับเอกสารพวกนี้ ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเข้มงวดกวดขันและลงพื้นที่ตรวจสอบจึงทำให้ถูกปรับไปหลายราย บางพื้นที่หากเจอเจ้าหน้าที่รัฐใจดีก็อาจได้รับการยืดหยุ่นให้แก้ไขและจัดส่งในภายหลังได้ แต่บางพื้นที่ถ้าหากเจอเจ้าหน้าที่รัฐเข้มงวดมาก ๆ ก็อาจจะเรียกทั้งค่าปรับและยึดใบอนุญาตฯโรงแรมได้ค่ะ ยิ่งตอนนี้มีการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐยิ่งเข้มงวดมากขึ้นด้วยค่ะ
เมื่อเกริ่นมาถึงตอนนี้ คุณคงจะเห็นแล้วว่าเอกสาร ร.ร.3 และ ร.ร.4 นั้นมีความสำคัญมากแค่ไหน ดังนั้นเพื่อให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมอย่างมืออาชีพ คุณต้องรู้จักเอกสารทั้งสองชนิดนี้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันบทลงโทษจากภาครัฐค่ะ
เอกสาร ร.ร.3 และ ร.ร.4 คืออะไร?
เอกสาร ร.ร. 3 คือ บัตรทะเบียนผู้เข้าพัก

เอกสาร ร.ร. 4 คือ บันทึกทะเบียนผู้เข้าพัก

วัตถุประสงค์ของการจัดทำทะเบียนผู้เข้าพัก (ร.ร.3 และ ร.ร.4)
เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลใด หลบซ่อนหรือมั่วสุมในเขตโรงแรมในลักษณะที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง หรือจะมีการกระทําความผิดอาญาขึ้นในโรงแรม
มาตรา 35 ระบุว่า
“ผู้จัดการต้องจัดให้มีการบันทึกรายการต่างๆเกี่ยวกับผู้พักและจํานวนผู้พักในแต่ละห้องลงในบัตรทะเบียนผู้พัก(ร.ร.3)ในทันทีที่มีการเข้าพัก โดยให้ผู้พัก คนใดคนหนึ่ง เป็นผู้ลงลายมือชื่อในบัตรทะเบียนผู้พัก(ร.ร.3)”
และ มาตรา 35 วรรคหนึ่ง ระบุว่า
“หากผู้พักมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์และเข้าพักตามลําพังให้ผู้จัดการ(ม.33)หรือผู้แทน(ม.32)ลงลายมือชื่อกํากับไว้ด้วย และนําไปบันทึกลงในทะเบียนผู้พัก(ร.ร.4)ให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากมีการลงทะเบียนเข้าพัก
บทกำหนดโทษ (โทษปรับทางปกครอง)
มาตรา 56 ระบุว่า
“…ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง …ต้องระวางโทษปรับทางปกครองตั้งแต่ 2หมื่นบาทถึง 1แสนบาท”
มาตรา 35 วรรคสอง ระบุว่า
“ถ้ารายการซึ่งจะต้องบันทึกลงในทะเบียนผู้พัก (ร.ร.4)ตามวรรคหนึ่งซ้ำกับรายการวันก่อน ให้บันทึกรายการดังกล่าวว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลง”
มาตรา 35 วรรคสาม ระบุว่า
“การบันทึกรายการต่างๆ เกี่ยวกับผู้เข้าพักลงในบัตรทะเบียนผู้พัก(ร.ร.3) และทะเบียนผู้พัก(ร.ร.4) ต้องบันทึกทุกรายการให้ครบถ้วน ห้ามมิให้ปล่อยช่องว่างไว้โดยไม่มีเหตุผลสมควร”
บทกำหนดโทษ
มาตรา 57 ระบุว่า
“…ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 1 หมื่นบาท”
การเก็บรักษาบัตรทะเบียน(ร.ร.3) และ ทะเบียนผู้พัก(ร.ร.4)
มาตรา 35 วรรคสี่ ระบุว่า
ผู้จัดการต้องเก็บรักษาบัตรทะเบียนผู้พัก(ร.ร.3)และทะเบียนผู้พัก(ร.ร.4) ไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และต้องให้อยู่ในสภาพที่ตรวจสอบได้”
บทกำหนดโทษ
มาตรา 56 ระบุว่า
“…ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 ….วรรคสี่ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท”
มาตรา 35 วรรคห้า ระบุว่า
“บัตรทะเบียนผู้พัก(ร.ร.3) และทะเบียนผู้พัก(ร.ร.4) ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกําหนด” ประกาศกระทรวงมหาดไทย
การนำส่งสำเนาทะเบียนผู้พัก (ร.ร.4)
มาตรา 36 ระบุว่า
“ผู้จัดการต้องส่งสําเนาทะเบียนผู้พัก (ร.ร.4) ในแต่ละวันไปให้นายทะเบียนทุกสัปดาห์ (ครบกําหนด
รอบสัปดาห์ที่ส่งในรอบแรก)เช่น สัปดาห์แรกส่งวันจันทร์ รอบส่งสัปดาห์ที่สองคือ วันจันทร์สัปดาห์
ถัดไป) ข้อแนะนํา ให้แยกแฟ้มเป็นโรงแรม/เตือนผู้ประกอบการถึงรอบส่งสําเนา ร.ร.4 ไว้ด้วย”
มาตรา 36 ระบุว่า
“แล้วให้นายทะเบียนทําใบรับมอบให้ไว้ เป็นสําคัญหากโรงแรมใดอยู่ห่างไกลหรือไม่สามารถส่งได้ตาม
กําหนดดังกล่าว ให้นายทะเบียนพิจารณากําหนดระยะเวลาส่งสําเนาดังกล่าวแล้วแจ้งให้ผู้จัดการทราบ”
บทกำหนดโทษ
มาตรา 56 ระบุว่า
“…ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๖… ต้องระวางโทษปรับทางปกครองตั้งแต่ 2หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท”
มาตรา 37 ระบุว่า
“ในกรณีที่ทะเบียนผู้พัก(ร.ร.4)ที่เก็บรักษาไว้ในโรงแรมสูญหายหรือถูกทําลาย ผู้จัดการต้องดําเนินการขอคัดลอก
สําเนาทะเบียนผู้พัก (ร.ร.4)นั้นจากนายทะเบียนมาเก็บรักษาไว้แทน”
บทกำหนดโทษ
มาตรา 56 ระบุไว้ว่า
“…ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 37 …ต้องระวางโทษปรับทางปกครองตั้งแต่ 2หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท”
บทกำหนดโทษทางอาญา
มาตรา 61 ระบุไว้ว่า
“ผู้ใดแจ้งรายการเท็จลงในบัตรทะเบียนผู้พัก(ร.ร.3)หรือทะเบียนผู้พัก(ร.ร.4)….ต้องระวาง โทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ”
ไม่ธรรมดาเลยใช่ไหมค่ะสำหรับเรื่องของบัตรลงทะเบียนผู้เข้าพัก รู้อย่างนี้แล้วจะละเลยไม่ได้เลยนะค่ะ เพื่อให้โรงแรม-รีสอร์ทของคุณประกอบกิจการอย่างถูกต้องเจ้าของกิจการหรือผู้จัดการโรงแรมต้องใส่ใจในรายละเอียดตรงนี้อย่าให้พลาดเชียวค่ะ อาจจะดูยุ่งยากไปซักหน่อยนะค่ะ แต่การจัดระเบียบของพ.ร.บ.โรงแรมนั้นก็เพื่อความเรียบร้อยและความปลอดภัยของโรงแรมและผู้เข้าพักทุกท่าน
มาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงจะรู้จัก รร.3 และ รร.4 กันแล้วนะคะ และคงจะเห็นแล้วว่าการบันทึกทะเบียนผู้พักนั้นสำคัญมาก หากละเลยก็มีบทลงโทษเป็นค่าปรับและหากเกิดกรณีร้ายแรงมากอาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตโรงแรมได้ค่ะ
ตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ฝ่ายปกครองก็ตรวจสอบเรื่องทะเบียนผู้พักเข้มงวดมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนทะเบียนผู้พักจะบันทึกลงในกระดาษ A4 และรวบรวมนำไปส่งให้เจ้าหน้าที่ปกครองประจำเทศบาลที่โรงแรมตั้งอยู่เดือนละ 1 ครั้ง แต่ปัจจุบันนี้เจ้าหน้าที่ปกครองจะมีไลน์กลุ่มของผู้ประกอบการโรงแรมภายในพื้นที่และผู้ประกอบการโรงแรมจะต้องส่งทะเบียนผู้พักหรือ รร.4 เข้าไปในไลน์กลุ่มทุก ๆ สัปดาห์ค่ะ ซึ่งการที่ต้องส่งข้อมูลให้ฝ่ายปกครองทุก ๆ สัปดาห์นี่เองก็อาจสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กบางท่านที่ต้องเขียนข้อมูลลูกค้าลงในทะเบียนผู้พักที่เป็นกระดาษ A4 แล้วถ่ายรูปส่งเข้าไปในไลน์กลุ่ม บางท่านอาจลายมือไม่สวย อ่านยาก บางท่านก็ไม่ถนัดเรื่องของเทคโนโลยีเวลาส่งรูปเข้าไปในไลน์กลุ่มบางรูปอาจจะไม่ชัด หรือไม่มีการจัดเรียงหน้ากระดาษทำให้ข้อมูลสับสน อย่างนี้เป็นต้นค่ะ
ดังนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยจึงได้ออกประกาศฉบับใหม่ ลงวันที่ 7 กันยายน 2564 ให้ปรับปรุงบัตรทะเบียนผู้พักและทะเบียนผู้พักตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 โดยสาระสำคัญของประกาศดังกล่าวก็คือ ได้เพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถจัดทำบัตรทะเบียนผู้พัก (ร.ร.3) และทะเบียนผู้พัก (ร.ร.4) ผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ได้ ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ และยังรองรับการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของผู้พักในการลงทะเบียนเข้าพักในโรงแรมอีกด้วยค่ะ โดยปรับปรุงจากประกาศฉบับเดิมที่กำหนดให้ทำในรูปแบบกระดาษเท่านั้น
และยังได้กำหนดรูปแบบบัตรทะเบียนผู้พัก (ร.ร.3) และทะเบียนผู้พัก (ร.ร.4) รูปแบบใหม่ ให้เป็นกระดาษสีขาว ขนาด 210 มิลลิเมตร x 297 มิลลิเมตร ( เป็นกระดาษขนาด A4 ซึ่งแต่เดิมนั้นบัตรทะเบียนผู้พัก (ร.ร.3) จะใช้เป็นกระดาษแข็งสีขาวขนาด 11 cm x 16 cm ) ส่วนบัตรทะเบียนผู้พักและทะเบียนผู้พักรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อนุโลมให้ใช้ตามแบบฟอร์มกระดาษค่ะ โดยจะบันทึกรายการเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้
ประกาศนี้มีผลบังคับใช้เริ่มตั้งแต่ 8 กันยายน 2564 เป็นต้นไป

“คุณสามารถเปลี่ยนตัวเองจากคนธรรมดาให้กลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ แค่เพียงมีความรู้ มีแรงบันดาลใจ และมีความสุข ฉันอยู่ที่นี่เพื่อจะแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ให้กับคุณค่ะ”
มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับหลักสูตร เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้
คอร์สอบรมที่ช่วยให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ภายใน 2 วัน
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ