
รร.3 และ รร.4 คืออะไร? หากท่านที่ได้ติดตามอ่านบทความที่ผ่านมาหรือเปิดดำเนินธุรกิจโรงแรมก็คงจะรู้กันบ้างแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้อ่านหรือว่ายังไม่รู้ก็ไม่ต้องกังวลค่ะ ในบทความนี้ฉันมีเรื่อง รร.3 และ รร.4 ตามประกาศพระราชบัญญัติโรงแรมฉบับใหม่มาแบ่งปัน
คลิกอ่านต่อ ที่นี่
โดยปกติแล้ว หลังจากที่โรงแรมเปิดดำเนินกิจการก็จะต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมให้เรียบร้อยและจะต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้ยื่นขอเป็นผู้จัดการโรงแรม คำว่า “ผู้จัดการโรงแรม” ในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึงผู้จัดการที่ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าของให้บริหารจัดการโรงแรมและไม่ใช่เจ้าของกิจการโรงแรมที่ลงมือมาบริหารและเป็นผู้จัดการโรงแรมเองนะคะ แต่ทุกโรงแรมจะต้องแต่งตั้ง “ผู้จัดการโรงแรม” ตามพระราชบัญญัติโรงแรมค่ะ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง การขอเป็นผู้จัดการโรงแรมตามพระราชบัญญัติโรงแรม คลิกที่นี่)
ซึ่งผู้จัดการโรงแรมที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติโรงแรม จะมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องของ ร.ร. 3และ ร.ร.4 ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐค่ะ
ร.ร.3 คือ บัตรทะเบียนผู้พัก
ร.ร.4 คือ ทะเบียนผู้พัก
วัตถุประสงค์ของการจัดทำทะเบียนผู้เข้าพัก (ร.ร.3 และ ร.ร.4)
เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลใด หลบซ่อนหรือมั่วสุมในเขตโรงแรมในลักษณะที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง หรือจะมีการกระทําความผิดอาญาขึ้นในโรงแรม
มาตรา 35 ระบุว่า
“ผู้จัดการต้องจัดให้มีการบันทึกรายการต่างๆเกี่ยวกับผู้พักและจํานวนผู้พักในแต่ละห้องลงในบัตรทะเบียนผู้พัก(ร.ร.3)ในทันทีที่มีการเข้าพัก โดยให้ผู้พัก คนใดคนหนึ่ง เป็นผู้ลงลายมือชื่อในบัตรทะเบียนผู้พัก(ร.ร.3)”
และ มาตรา 35 วรรคหนึ่ง ระบุว่า
“หากผู้พักมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์และเข้าพักตามลําพังให้ผู้จัดการ(ม.33)หรือผู้แทน(ม.32)ลงลายมือชื่อกํากับไว้ด้วย และนําไปบันทึกลงในทะเบียนผู้พัก(ร.ร.4)ให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากมีการลงทะเบียนเข้าพัก
บทกำหนดโทษ (โทษปรับทางปกครอง)
มาตรา 56 ระบุว่า
“…ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง …ต้องระวางโทษปรับทางปกครองตั้งแต่ 2หมื่นบาทถึง 1แสนบาท”
มาตรา 35 วรรคสอง ระบุว่า
“ถ้ารายการซึ่งจะต้องบันทึกลงในทะเบียนผู้พัก (ร.ร.4)ตามวรรคหนึ่งซ้ำกับรายการวันก่อน ให้บันทึกรายการดังกล่าวว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลง”
มาตรา 35 วรรคสาม ระบุว่า
“การบันทึกรายการต่างๆ เกี่ยวกับผู้เข้าพักลงในบัตรทะเบียนผู้พัก(ร.ร.3) และทะเบียนผู้พัก(ร.ร.4) ต้องบันทึกทุกรายการให้ครบถ้วน ห้ามมิให้ปล่อยช่องว่างไว้โดยไม่มีเหตุผลสมควร”
บทกำหนดโทษ
มาตรา 57 ระบุว่า
“…ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 1 หมื่นบาท”
การเก็บรักษาบัตรทะเบียน(ร.ร.3) และ ทะเบียนผู้พัก(ร.ร.4)
มาตรา 35 วรรคสี่ ระบุว่า
ผู้จัดการต้องเก็บรักษาบัตรทะเบียนผู้พัก(ร.ร.3)และทะเบียนผู้พัก(ร.ร.4) ไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และต้องให้อยู่ในสภาพที่ตรวจสอบได้”
บทกำหนดโทษ
มาตรา 56 ระบุว่า
“…ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 ….วรรคสี่ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท”
มาตรา 35 วรรคห้า ระบุว่า
“บัตรทะเบียนผู้พัก(ร.ร.3) และทะเบียนผู้พัก(ร.ร.4) ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกําหนด” ประกาศกระทรวงมหาดไทย
อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงจะรู้จัก รร.3 และ รร.4 กันแล้วนะคะ และคงจะเห็นแล้วว่าการบันทึกทะเบียนผู้พักนั้นสำคัญมาก หากละเลยก็มีบทลงทโทษเป็นค่าปรับและหากเกิดกรณีร้ายแรงมากอาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตโรงแรมได้ค่ะ
ตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ฝ่ายปกครองก็ตรวจสอบเรื่องทะเบียนผู้พักเข้มงวดมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนทะเบียนผู้พักจะบันทึกลงในกระดาษ A4 และรวบรวมนำไปส่งให้เจ้าหน้าที่ปกครองประจำเทศบาลที่โรงแรมตั้งอยู่เดือนละ 1 ครั้ง แต่ปัจจุบันนี้เจ้าหน้าที่ปกครองจะมีไลน์กลุ่มของผู้ประกอบการโรงแรมภายในพื้นที่และผู้ประกอบการโรงแรมจะต้องส่งทะเบียนผู้พักหรือ รร.4 เข้าไปในไลน์กลุ่มทุก ๆ สัปดาห์ค่ะ ซึ่งการที่ต้องส่งข้อมูลให้ฝ่ายปกครองทุก ๆ สัปดาห์นี่เองก็อาจสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กบางท่านที่ต้องเขียนข้อมูลลูกค้าลงในทะเบียนผู้พักที่เป็นกระดาษ A4 แล้วถ่ายรูปส่งเข้าไปในไลน์กลุ่ม บางท่านอาจลายมือไม่สวย อ่านยาก บางท่านก็ไม่ถนัดเรื่องของเทคโนโลยีเวลาส่งรูปเข้าไปในไลน์กลุ่มบางรูปอาจจะไม่ชัด หรือไม่มีการจัดเรียงหน้ากระดาษทำให้ข้อมูลสับสน อย่างนี้เป็นต้นค่ะ
ดังนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยจึงได้ออกประกาศฉบับใหม่ ลงวันที่ 7 กันยายน 2564 ให้ปรับปรุงบัตรทะเบียนผู้พักและทะเบียนผู้พักตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 โดยสาระสำคัญของประกาศดังกล่าวก็คือ ได้เพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถจัดทำบัตรทะเบียนผู้พัก (ร.ร.3) และทะเบียนผู้พัก (ร.ร.4) ผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ได้ ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ และยังรองรับการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของผู้พักในการลงทะเบียนเข้าพักในโรงแรมอีกด้วยค่ะ โดยปรับปรุงจากประกาศฉบับเดิมที่กำหนดให้ทำในรูปแบบกระดาษเท่านั้น
และยังได้กำหนดรูปแบบบัตรทะเบียนผู้พัก (ร.ร.3) และทะเบียนผู้พัก (ร.ร.4) รูปแบบใหม่ ให้เป็นกระดาษสีขาว ขนาด 210 มิลลิเมตร x 297 มิลลิเมตร ( เป็นกระดาษขนาด A4 ซึ่งแต่เดิมนั้นบัตรทะเบียนผู้พัก (ร.ร.3) จะใช้เป็นกระดาษแข็งสีขาวขนาด 11 cm x 16 cm ) ส่วนบัตรทะเบียนผู้พักและทะเบียนผู้พักรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อนุโลมให้ใช้ตามแบบฟอร์มกระดาษค่ะ โดยจะบันทึกรายการเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้
ประกาศนี้มีผลบังคับใช้เริ่มตั้งแต่ 8 กันยายน 2564 เป็นต้นไป
ประกาศกระทรวงมหาดไทย

ตัวอย่างบัตรทะเบียนผู้พัก (ร.ร. 3) รูปแบบใหม่

ตัวอย่างทะเบียนผู้พัก (ร.ร. 4) รูปแบบใหม่

“เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ คือพลังที่ยิ่งใหญ่”
ขอให้ทุกท่านจงสร้างธุรกิจโรงแรมที่ดี มีคุณภาพเพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยของเรา
หากคุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ และบอกต่อด้วยนะคะ
มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับหลักสูตร เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้
คอร์สอบรมที่ช่วยให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ภายใน 2 วัน
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ