
ในที่สุดวันที่เจ้าของธุรกิจโรงแรมที่พักขนาดเล็กรอคอยก็ได้เดินทางมาถึงแล้ว เมื่อกฎหมายโรงแรมฉบับใหม่ได้แก้ไขผ่อนปรนเพื่อให้ธุรกิจโรงแรมที่พักขนาดเล็กและอาคารลักษณะพิเศษ สามารถขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ง่ายขึ้น และนี่คือรายละเอียดกฎหมายโรงแรมฉบับแก้ไขที่ขัดเกลาจนคนธรรมดาอ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายสุด ๆ ค่ะ
คลิกอ่านต่อ ที่นี่
ฉันเชื่อว่าคนธรรมดาก็สามารถเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนและมีความสุขได้ ด้วยสูตร (ความรู้ + แรงบันดาลใจ + ความรัก) x ความสุข เพราะความสุข คือสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุด มันมีพลังที่จะช่วยคุณขับเคลื่อนทุกอย่างไปสู่ความสำเร็จตามที่ใจปรารถนา และสูตรนี้คือการแบ่งปันความรู้สำหรับคนที่อยากสร้างธุรกิจโรงแรมของตนเองให้ประสบความสำเร็จตามแนวทางของ A-LISA.NET
หลังจากที่รอยคอยกันมานาน ว่าเมื่อไหร่กฎหมายโรงแรมฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่จะคลอดออกมาซะที ตอนนี้หลายท่านก็คงจะสมใจแล้วนะคะ เพราะกฎหมายฉบับนี้นั้น บัดนี้ได้ประกาศออกมาเป็นกฏกระทรวง ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ฉันเชื่อว่าการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายโรงแรมฉบับนี้คงเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของธุรกิจโรงแรมที่พักที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมหลายแห่ง รวมไปถึงท่านที่มองเห็นโอกาสในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจให้บริการที่พักและอยากเข้ามาในธุรกิจนี้เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ เราอาศัยอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจที่เหมาะสมและคู่ควรที่สุดในประเทศนี้ก็คงเป็นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและที่พักค่ะ
เมื่อราชกิจจานุเบกษาประกาศออกมาเป็นกฎกระทรวงแล้ว นั่นก็แปลว่า กฎกระทรวงฉบับนี้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ออกมาเพื่อบังคับใช้กับเจ้าของธุรกิจโรงแรมหรือคนที่อยากกระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้ต้องปฏิบัติตาม และเมื่อเป็นกฎหมายก็ต้องเขียนด้วยภาษากฎหมาย ผู้ทรงภูมิส่วนใหญ่ที่สามารถอ่านภาษากฎหมายนี้ได้อย่างคล่องแคล่วก็ดูเหมือนจะมีแต่ทนายความเสียเป็นส่วนใหญ่ คนธรรมดาทั่วไปเมื่อเห็นภาษากฎหมายแล้ว แม้จะเขียนเป็นภาษาไทยแต่ก็คงจะอ่านเข้าใจบ้างและอาจจะงงเป็นไก่ตาแตกบ้าง
ดังนั้น เพื่อให้คนธรรมดาทั่วไปที่สนใจอยากลงทุนทำธุรกิจโรงแรมที่พักขนาดเล็กแต่ไม่ค่อยเข้าใจภาษากฎหมายได้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นจนสามารถนำไปเป็นแนวทางสร้างธุรกิจโรงแรมของตัวเองและอาจหาญจนถึงขั้นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้จนสำเร็จครบถ้วน ฉันจึงได้นำสมองน้อย ๆ ของตัวเองมาช่วยแกะและเกลากฎหมายฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่นี้ให้เป็นภาษาธรรมดาที่คนธรรมดาทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจง่ายขึ้น แล้วนำมาเขียนเป็นบทความแบ่งปันให้กับคุณค่ะ แต่ถ้าคุณมีความเชี่ยวชาญด้านภาษากฎหมายเป็นอย่างดี ต้องการอ่านตัวบทกฎหมายด้วยตนเอง ก็สามารถอ่านได้ตามไฟล์ที่แนบไว้ให้ตรงท้ายบทความนะคะ
กฎกระทรวงฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่นี้มีทั้งหมด 4 หมวด จะเน้นในเรื่องของการกำหนดลักษณะความปลอดภัยของอาคารที่นำมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมค่ะ และในบทเฉพาะกาล ยังได้ผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการที่อยากจะนำเอาอาคารเก่ามาดัดแปลงเปลี่ยนเป็นโรงแรมด้วย
กฎกระทรวง การกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2566
ได้กำหนดความหมายและนิยามของโรงแรมและอาคารที่สามารถนำมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม ดังต่อไปนี้ค่ะ
ข้อ 1 กำหนดความหมายของคำต่อไปนี้
โรงแรม หมายถึง อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
ห้องพัก หมายถึง ห้องพักของโรงแรมที่จัดไว้เพื่อประโยชน์ในการพักอาศัยเป็นการชั่วคราวของผู้พัก
ห้องพักรวม หมายถึง ห้องพักและบริเวณพื้นที่ของโรงแรมที่มีผู้พักตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยคิดค่าบริการรายคนและมีการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน เช่น ห้องน้ำ ห้องส้วม โถงทางเดิน
อาคารลักษณะพิเศษ หมายถึง สิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นที่บุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้เพื่อใช้เป็นโรงแรม มีลักษณะ แบบ รูปทรง สัดส่วน ขนาด หรือเนื้อที่แตกต่างจากอาคารที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยหรือใช้สอยตามปกติทั่วไป
อาคารลักษณะพิเศษ ที่สามารถนำมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมได้ตามกฎหมาย
1. แพ หรือสิ่งก่อสร้างที่ลอยอยู่ในน้ำได้ โดยแพหรือสิ่งก่อสร้างนี้ต้องมีลักษณะอยู่กับที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ด้วยตัวเองได้ และไม่มีโครงสร้างส่วนหนึ่งส่วนใดของแพหรือสิ่งก่อสร้างที่ลอยน้ำได้นี้ยึดติดกับพื้นดินให้อยู่กับที่เป็นการถาวร ไม่ว่าจะเป้นพื้นดินใต้น้ำหรือพื้นดินที่ต้องติดต่อกับทางน้ำ
2. สิ่งก่อสร้างที่ประกอบขึ้นโดยผ้าใบ เส้นใย วัสดุแผ่นบาง เป็นส่วนประกอบของโครงสร้าง ผนัง หรือหลังคา เช่น เต๊นท์ โครงสร้างแบบอัดอากาศ
3. ซากพาหนะที่นำมาดัดแปลงเพื่อเข้าอยู่อาศัยหรือใช้สอย เช่น รถหรือส่วนพ่วงของรถ รถไฟ เครื่องบิน เรือ
4. ชิ้นส่วนวัสดุสำเร็จรูปท่ีนำมาประกอบหรือติดตั้ง เช่น ท่อคอนกรีตสำเร็จรูป ตู้คอนเทนเนอร์
5. สิ่งก่อสร้างที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป โดยแขวน เกาะเกี่ยว ยึดโยง กับสภาพธรรมชาติหรือโครงสร้างหรือสิ่งก่อสร้างอื่นใด เช่น ห้องพักบนต้นไม้ ห้องพักที่แขวนไว้กับเสาหรือเครน ห้องพักที่ยึดโยงไว้กับหน้าผา
การกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารโรงแรม
แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ดังต่อไปนี้
หมวด 1 โครงสร้างหลัก บันได และวัสดุของอาคาร
ข้อ 2 โรงแรมต้องมีโครงสร้างหลักที่มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้อย่างปลอดภัย และต้องใช้วัสดุในการก่อสร้างอาคาร ตามกฎกระทรวงดังต่อไปนี้
2.1 กฎกระทรวงเกี่ยวกับการกำหนดการออกแบบโครงสร้างอาคารและลักษณะคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร
2.2 กฎกระทรวงเกี่ยวกับการกำหนดฐานรากของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคาร
2.3 กฎกระทรวงเกี่ยวกับการกำหนดวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารประเภทควบคุมการใช้ เว้นแต่จะได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้เป็นการเฉพาะ
2.4 กฏกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ข้อ 3 โรงแรมที่มีมากกว่า 3 ชั้นต้องมีโครงสร้างหลักและผนังของอาคารที่ทำด้วยวัสดุถาวรที่ไม่ติดไฟ
(รวมถึงบันไดด้วย)
ข้อ 4 บันไดต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
4.1 โรงแรมตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป บันได้ต้องมีความกว้าง ระยะดิ่งของบันได ชานพักบันได พื้นหน้าบันได ลูกตั้ง ลูกนอนและราวบันได ตามข้อกำหนดของบันได ตามข้อ 24, 25, 26 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (ดูกฎกระทรวงฉบับที่ 55 เพิ่มเติมที่ด้านล่างค่ะ)
4.2 โรงแรมสองชั้นที่มีจำนวนห้องพักในอาคารหลังเดียวกันไม่เกิน 10 ห้อง และจำนวนผู้พักไม่เกิน 10 คน ถ้ามีบันได ต้องมีความกว้าง ระยะดิ่ง ชานพักพันได พื้นหน้าบันไดทั้งลูกตั้งและลูกนอน ตามข้อกำหนดของบันได ตามข้อ 23 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (ดูกฎกระทรวงฉบับที่ 55 เพิ่มเติมที่ด้านล่างค่ะ)
หมวด 2 ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ระบบการจัดการอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 5 โรงแรมที่มีความสูงไม่เกิน 2 ชั้น มีจำนวนห้องพักในอาคารหลังเดียวกันไม่เกิน 10 ห้อง และมีพื้นที่อาคารไม่เกิน 300 ตารางเมตร ต้องจัดให้มีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ดังต่อไปนี้
5.1 ติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือไม่น้อยกว่า 1 เครื่อง และให้มีระยะการเข้าถึงไม่เกิน 22.50 เมตร โดยมีขนาดบรรจุสารเคมีไม่น้อยกว่า 4 กิโลกรัม ตามชนิดที่เหมาะสมสำหรับดับเพลิงที่เกิดจากวัสดุในอาคารนั้น
การติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ ต้องติดตั้งในส่วนบนสุดของตัวเครื่องสูงจากระดับพื้นอาคารไม่เกิน 1.5 เมตร ติดตั้งในที่ที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน รวมถึงสามารถอ่านคำแนะนำการใช้ได้ สามารถเข้าใช้สอยได้สะดวกและต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา
5.2 ในพื้นที่ห้องพัก ต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควันที่สามารถส่งเสียงแจ้งเหตุได้ในตัวเอง และอุปกรณ์ส่งสัญญาณเพื่อให้หนีไฟที่สามารถส่งเสียงหรือสัญญาณให้คนที่อยู่ในอาคารได้ยินหรือทราบอย่างทั่วถึง
ข้อ 6 โรงแรมที่ไม่ใช่โรงแรมตาม ข้อ 5 ต้องจัดให้มีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย ดังต่อไปนี้
6.1 ติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือในแต่ละชั้นไว้ 1 เครื่อง ต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร โดยมีขนาดบรรจุสารเคมีไม่น้อยกว่า 4 กิโลกรัม ตามชนิดที่เหมาะสมสำหรับดับเพลิงที่เกิดจากวัสดุในอาคารนั้น
การติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ ต้องติดตั้งในส่วนบนสุดของตัวเครื่องสูงจากระดับพื้นอาคารไม่เกิน 1.5 เมตร ติดตั้งในที่ที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน รวมถึงสามารถอ่านคำแนะนำการใช้ได้ สามารถเข้าใช้สอยได้สะดวกและต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา
6.2 ติดตั้งระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
6.2.1 อุปกรณ์ส่งสัญญาณเพื่อให้หนีไฟ สามารถส่งเสียงหรือสัญญาณให้คนที่อยู่ในอาคารได้ยินและทราบอย่างทั่วถึง
6.2.2 อุปกรณ์ตรวจจับอัตโนมัติ อุปกรณ์แจ้งเหตุที่ใช้มือ และแผงควบคุมระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้เพื่อให้อุปกรณ์ส่งสัญญาณหนีไฟทำงาน
6.3 มีแสงสว่างจากระบบไฟฟ้าฉุกเฉินเพียงพอที่จะมองเห็นเส้นทางหนีไฟได้ชัดเจนขณะเกิดเพลิงไหม้ และมีป้ายบอกทางหนีไฟด้วยสัญลักษณ์
6.4 กรณีที่โรงแรมมีทางไปสู่ทางหนีไฟที่มีลักษณะเป็นทางปลายตัน ต้องมีระยะความยาวของทางปลายตันไม่เกิน 10 เมตร
6.5 พื้นหน้าบันไดหนีไฟและชานพักบันไดหนีไฟต้องมีความกว้างและความลึกไม่น้อยกว่าความกว้างของบันไดหนีไฟ และประตูที่เปิดเข้าสู่บันไดหนีไฟ ตลอดแนวการเปิดของประตูจะต้องไม่ทำให้พื้นที่หน้าบันไดหนีไฟและชานพักบันไดลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง
6.6 ติดตั้งแผนผังของอาคารแต่ละชั้นไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจนทุกชั้น เช่น บริเวณห้องโถง หรือหน้าลิฟต์ทุกแห่ง โดยแผนผังของอาคารต้องประกอบด้วยสัญลักษณ์ อักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ชัดเจน และให้ติดตั้งแผนผังตามทิศทางการวางของอาคาร โดยแผนผังของอาคารแต่ละชั้นประกอบด้วย
6.6.1 ตำแหน่งของห้องทุกห้อง ของชั้นที่ติดตั้งแผนผังอาคาร
6.6.2 ตำแหน่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง ตู้สายฉีดน้ำดับเพลิงหรือหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงและอุปกรณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ของชั้นที่ติดตั้งแผนผังของอาคาร
6.6.3 ตำแหน่งประตูและเส้นทางหนีไฟของชั้นที่ติดแผนผังอาคาร
6.6.4 ตำแหน่งลิฟต์ดับเพลิงของชั้นที่ติดตั้งแผนผังของอาคารในกรณ๊ที่อาคารมีลิฟต์ดับเพลิงติดตั้งอยู่
6.6.5 ตำแหน่งที่ติดตั้งแผนผังของอาคาร
ข้อ 7 การเก็บรักษาแผนผังของอาคารตามข้อ 6.6 และแบบแปลนของอาคาร ให้เก็บรักษาไว้บริเวณชั้นล่างของอาคารหรือห้องควบคุมหรือห้องที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้สะดวก และควรจัดเก็บเป็นแบบที่เขียน พิมพ์ สำเนาหรือภาพถ่ายอย่างหนึ่งอย่างใด รวมทั้งจัดเก็บในรูปแบบไฟล์อิเล็คทรอนิคที่สามารถใช้งานได้ขณะเกิดเหตุฉุกเฉิน
ข้อ 8 หากโรงแรมเป็นอาคารที่กำหนดดังต่อไปนี้ ต้องจัดให้มีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยเพิ่มเติมด้วย
8.1 โรงแรมที่เป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษหรือตั้งอยู่ในอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องจัดให้มีผนังและประตู ระบบท่อยืน ที่เก็บน้ำสำรอง หัวรับน้ำดับเพลิง ระบบดับเพลิงอัตโนมัติหรือระบบอื่นที่เทียบเท่า แบบแปลนระบบท่อน้ำดับเพลิงและระบบการเก็บและจ่ายน้ำสำรอง บันไดหนีไฟ ประตูหนีไฟ ช่องทางเฉพาะสำหรับเข้าไปบรรเทาสาธารณภัย ทางหนีไฟทางอากาศ พื้นที่สำหรับยานพาหนะในการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวกับอัคคีภัยหรือภัยพิบัติอย่างอื่นและพื้นที่หรือตำแหน่งเพื่อติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอิตโนมัติ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) และที่แก้ไขเพิ่มเติม
8.2 โรงแรมตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป หรือโรงแรม 3 ชั้นและมีดาดฟ้าเหนือชั้นที่สามที่มีพื้นที่เกิน 16 ตารางเมตรต้องจัดให้มีบันไดหนีไฟ ประตูหนีไฟ และพื้นหน้าบันไดหนีไฟ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) และที่แก้ไขเพิ่มเติม
หมายเหตุ: ตามกฏกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ระบุว่า
“อาคารสูง” หมายความว่า อาคารที่บุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้โดยมีความสูงตั้งแต่ 23.00 เมตรขึ้นไป การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพื้นดาดฟ้า สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด
“อาคารขนาดใหญ่พิเศษ” หมายความว่า อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภทโดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
“พื้นที่อาคาร” หมายความว่า พื้นที่ของพื้นของอาคารแต่ละชั้นที่บุคคลเข้าอยู่ หรือเข้าใช้สอยได้ภายในขอบเขตด้านนอกของคานหรือภายในพื้นนั้น หรือภายในขอบเขตด้านนอกของผนังของอาคาร และหมายความรวมถึงเฉลียงหรือระเบียงด้วย แต่ไม่รวมพื้นดาดฟ้าและบันไดนอกหลังคา
“พื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร” หมายความว่า พื้นที่ของแปลงที่ดินที่นำมาใช้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็นที่ดินตามหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินฉบับเดียวหรือหลายฉบับ ซึ่งเป็นที่ดินที่ติดต่อกัน
“ดาดฟ้า” หมายความว่า พื้นส่วนบนสุดของอาคารที่ไม่มีหลังคาปกคลุม และบุคคลสามารถขึ้นไปใช้สอยได้
“ที่ว่าง” หมายความว่า พื้นที่อันปราศจากหลังคาหรือสิ่งก่อสร้างปกคลุม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอาจจะจัดให้เป็นบ่อน้ำ สระว่ายน้ำ บ่อบำบัดน้ำเสีย ที่พักมูลฝอย ที่พักรวมมูลฝอย หรือที่จอดรถที่อยู่ภายนอกอาคารก็ได้ และให้หมายความรวมถึงพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างหรืออาคารที่สูงจากระดับพื้นดินไม่เกิน 1.20 เมตร และไม่มีหลังคาหรือสิ่งปกคลุมเหนือระดับนั้น
(คำจำกัดความของ “พื้นที่อาคาร” “พื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร” “ดาดฟ้า” และ “ที่ว่าง” แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2540)ฯ)
“ถนนสาธารณะ” หมายความว่า ถนนที่เปิดหรือยินยอมให้ประชาชนเข้าไปหรือใช้เป็นทางสัญจรได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือไม่
“วัสดุทนไฟ” หมายความว่า วัสดุก่อสร้างที่ไม่เป็นเชื้อเพลิง
“ผนังกันไฟ” หมายความว่า ผนังทึบที่ก่อด้วยอิฐธรรมดาหนาไม่น้อยกว่า 18 เซนติเมตร และไม่มีช่องที่ให้ไฟหรือควันผ่านได้ หรือจะเป็นผนังทึบที่ทำด้วยวัสดุทนไฟอย่างอื่นที่คุณสมบัติในการป้องไฟได้ดีไม่น้อยกว่าผนังที่ก่อด้วยอิฐธรรมดาหนา 18 เซนติเมตร ถ้าเป็นผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก ต้องหนาไม่น้อยกว่า 12 เซนติเมตร
“ระบบท่อยืน” หมายความว่า ท่อส่งน้ำและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการดับเพลิง
“น้ำเสีย” หมายความว่า ของเหลวที่ผ่านการใช้แล้ว ทุกชนิดทั้งที่มีกากและไม่มีกาก
“แหล่งรองรับน้ำทิ้ง” หมายความว่า ท่อระบายน้ำสาธารณะ คู คลอง แม่น้ำ ทะเล และแหล่งน้ำสาธารณะ
“ระบบบำบัดน้ำเสีย” หมายความว่า กระบวนการทำหรือการปรับปรุงน้ำเสียให้มีคุณภาพเป็นน้ำทิ้งรวมทั้งการทำให้น้ำทิ้งพ้นไปจากอาคาร
“ระบบประปา” หมายความว่า ระบบการจ่ายน้ำเพื่อใช้และดื่ม
“มูลฝอย” หมายความว่า มูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
“ที่พักมูลฝอย” หมายความว่า อุปกรณ์หรือสถานที่ที่ใช้สำหรับเก็บกักมูลฝอยเพื่อรอการขนย้ายไปยังที่พักรวมมูลฝอย
“ที่พักรวมมูลฝอย” หมายความว่า อุปกรณ์หรือสถานที่ที่ใช้สำหรับเก็บกักมูลฝอยเพื่อรอการขนไปกำจัด
“ลิฟต์ดับเพลิง” หมายความว่า ลิฟต์ที่พนักงานดับเพลิงสามารถควบคุมการใช้ได้ขณะเกิดเพลิงไหม้
ข้อ 1 ทวิ กฎกระทรวงนี้มิให้ใช้บังคับแก่อาคารจอดรถซึ่งติดตั้งระบบเคลื่อนย้ายรถด้วยเครื่องจักรกลที่ได้รับการคำนวณออกแบบเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการจอดรถโดยเฉพาะ
(“ข้อ 1 ทวิ”เพิ่มโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 42 (พ.ศ. 2537)ฯ)
ข้อ 9 เส้นทางหนีไฟของโรงแรมต้องมีความกว้างอย่างเพียงพอและสอดคล้องกับจำนวนคนสูงสุด (วิธีการคำนวณขนาดความกว้างของเส้นทางหนีไฟ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน กฏกระทรวง กำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2566 หมวด 2 ข้อ 9)
ข้อ 10 ส่วนต่าง ๆ ของเส้นทางหนีไฟ ต้องมีความกว้างตามที่คำนวณได้จากข้อ 9 แต่ความกว้างสุทธิต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนด ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
10.1 บันไดในเส้นทางหนีไฟต้องมีความกว้างสุทธิ ไม่น้อยกว่า 0.90 เมตร เว้นแต่ ถ้าเป็นโรงแรมที่มีขนาด 2 ชั้น มีจำนวนห้องพักในอาคารหลังเดียวกันไม่เกิน 10 ห้อง และมีจำนวนผู้พักไม่เกิน 20 คน ให้มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 0.80 เมตร โดยห้ามมีสิ่งกีดขวางตลอดเส้นทางหนีไฟ
10.2 ช่องประตูห้องพัก และช่องประตูในเส้นทางหนีไฟ ต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 0.86 เมตร โดยห้ามมีสิ่งกีดขวางตลอดช่องทางหนีไฟ
10.3 ส่วนต่าง ๆ ของเส้นทางหนีไฟที่นอกเหนือจากข้อ 10.1 และ 10.2 ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1 เมตร และส่วนยื่นท่ีล้ำเข้ามาในเส้นทางหนีไฟดังกล่าวต้องไม่เกิน 0.20 เมตร และสูงจากพื้นได้ไม่เกิน 1 เมตร ความกว้างสุทธิจะต้องไม่น้อยกว่า 0.86 เมตร
ข้อ 11 โรงแรมตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป หรือโรงแรมที่มีขนาด 3 ชั้นและมีดาดฟ้าเหนือชั้นที่ 3 ที่มีพื้นที่เกิน 16 ตารางเมตร ต้องมีบันไดหนีไฟจากชั้นสูงสุดหรือจากดาดฟ้าสู่พื้นดินอย่างน้อย 2 บันได และต้องตั้งอยู่ในที่ที่บุคลลสามารถวิ่งมาถึงบันไดหนีไฟได้โดยสะดวก
- บันไดหนีไฟต้องมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า ครึ่งหนี่งของเส้นแทยงมุมที่ยาวที่สุดของอาคาร โดยวัดเป็นเส้นครงระหว่างบันไดหนีไฟ และต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 60 เมตร เมื่อวัดตามแนวทางเดิน
- บันไดหลักของโรงแรมที่มีลักษณะของบันไดหนีไฟที่มีลักษณะตามข้อ 11 นี้ สามารถนำมาเป็นบันไดหนีไฟได้
- ระบบบันไดหนีไฟ ต้องแสดงรายการคำนวณให้เห็นว่าสามารถใช้ลำเลียงบุคคลทั้งหมดในอาคารออกนอกอาคารได้ภายใน 1 ชั่วโมง
ข้อ 12 โรงแรมตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป ต้องมีป้ายบอกชั้นที่อยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลา ในแต่ละชั้น
ข้อ 13 โรงแรมต้องจัดให้มีระบบจัดการอาคาร และจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องตามประเภทของอาคารที่นำมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม ดังต่อไปนี้
13.1 ระบบจัดการแสงสว่าง ระบบระบายอากาศ และระบบไฟฟ้า ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) และที่แก้ไขเพิ่มเติม
13.2 ระบบบำบัดน้ำเสียและการระบายน้ำทิ้ง และระบบกำจัดขยะมูลฝอย ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) และกฎกระทรวงฉบับที่ 44 (พ.ศ.2538) และที่แก้ไขเพิ่มเติม
13.3 ระบบประปาและระบบลิฟต์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) และที่แก้ไขเพิ่มเติม
13.4 ที่จอดรถยนต์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2517) และกฎกระทรวงฉบับที่ 44 (พ.ศ.2538) และกฎกระทรวงฉบับท่ี 64 (พ.ศ.2555) และที่แก้ไขเพิ่มเติม
13.5 ห้องน้ำและห้องส้วม ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) และที่แก้ไขเพิ่มเติม
13.6 สิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
หมวด 3 พื้นที่ภายในอาคารและที่ว่างภายนอกอาคาร
ข้อ 14 โรงแรมต้องมีขนาดของห้องพัก ซึ่งไม่รวมห้องน้ำ ห้องส้วม และระเบียง ดังต่อไปนี้
14.1 ห้องพักที่มีผู้พักไม่เกิน 1 คน ต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 6 ตารางเมตร
14.2 ห้องพักที่มีผู้พักไม่เกิน 2 คน ต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร
14.3 ห้องพักรวม ที่มีเตียงสูงหนึ่งชั้น ต้องมีอัตราส่วนพื้นที่ห้องพักต่อผู้พักไม่น้อยกว่า 3 ตารางเมตร
(Ex: ถ้าห้องพักรวม พักได้ 3 คน ห้องต้องมีอัตราส่วนพื้นที่ไม่น้อยกว่า 9 ตารางเมตร)
14.4 ห้องพักรวม ที่มีเตียงสูงสองชั้น ต้องมีอัตราส่วนพื้นที่ห้องพักต่อผู้พักไม่น้อยกว่า 1.5 ตารางเมตร
(Ex: ถ้าห้องพักรวม พักได้ 4 คน ห้องต้องมีอัตราส่วนพื้นที่ไม่น้อยกว่า 6 ตารางเมตร)
ข้อ 15 ห้องพักของโรงแรม ต้องมีระยะดิ่งไม่น้อยกว่า 2.6 เมตร โดยวัดจากพื้นถึงพื้น หรือวัดจากพื้นถึงยอดฝาหรือยอดผนังใต้หลังคา สำหรับห้องพักที่อยู่ในโครงสร้างของหลังคืาหรือผนังที่ลาดเอียง ต้องมีระยะดิ่งไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร โดยวัดจากพื้นถึงเพดานหรือยอดฝาหรือยอดผนังอาคารตอนต่ำที่สุด
ข้อ 16 ช่องทางเดินในโรงแรมต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร เว้นแต่กรณีที่กำหนดดังต่อไปนี้
16.1 โรงแรมที่มีจำนวนห้องพักในชั้นเดียวกันไม่เกิน 10 ห้อง ช่องทางเดินในโรงแรมต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1 เมตร
16.2 โรงแรมที่มีจำนวนห้องพักในชั้นเดียวกันมากกว่า 10 ห้อง แต่ไม่เกิน 20 ห้อง ช่องทางเดินในโรงแรมต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.20 เมตร
ข้อ 17 ช่องทางเดินในโรงแรมจะมีส่วนยื่นล้ำเข้ามาในช่องทางเดินก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 0.20 เมตร และส่วนยื่นที่ล้ำเข้ามานั้นต้องสูงจากพื้นได้ไม่เกิน 1 เมตร แต่ความกว้างสุทธิตามข้อ 16.1 จะต้องไม่น้อยกว่า 0.86 เมตร
ข้อ 18 โรงแรมต้องมีที่ว่างภายนอกอาคารไม่น้อยกว่า 10 ใน 100 ส่วน ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร แต่ถ้ามีการใช้ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเป็นอาคารอยู่อาศัยรวมด้วย ต้องมีที่ว่างภายนอกอาคารไม่น้อยกว่า 30 ใน 100 ส่วน ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร
ข้อ 19 โรงแรมที่มีห้องพักรวม ให้มีผู้พักได้ไม่เกิน 40 คนต่อห้อง โดยต้องมีทางเดินห้องพักรวมไม่น้อยกว่า 1.20 เมตร
ถ้าในกรณีที่ห้องพักรวม มีจำนวนผู้พักตั้งแต่ 21 คนขึ้นไป ต้องมีช่องประตูทางออกจำนวน 2 แห่ง โดยช่องประตูทางออกต้องมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของเส้นทแยงมุมที่ยาวที่สุดของห้องพักรวม
ข้อ 20 โรงแรมต้องจัดให้มีพื้นที่ภายในอาคารและที่ว่างภายนอกอาคาร ตามประเทภของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม ดังนี้
20.1 โรงแรมที่เป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษหรือตั้งอยู่ในอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องจัดให้มีลักษณะของอาคาร ที่ว่างภายนอกอาคารและแนวอาคาร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) และกฎกระทรวงฉบับบที่ 55(พ.ศ. 2543) และที่แก้ไขเพิ่มเติม
20.2 โรงแรมที่ไม่ใช่โรงแรมตามข้อ 20.1 ต้องจัดให้มีลักษณะของอาคาร ที่ว่างภายนอกอาคารและแนวอาคาร ตามกฎกระทรวงฉบับบที่ 55(พ.ศ. 2543) และที่แก้ไขเพิ่มเติม
หมวด 4 อาคารลักษณะพิเศษ
ข้อ 21 ให้นำข้อบังคับในกฎกระทรวงฉบับนี้ในหมวด 1 หมวด 2 และหมวด 3 มาใช้บังคับกับอาคารลักษณะพิเศษด้วย เว้นแต่ที่กำหนดไว้เฉพาะในหมวดนี้
ข้อ 22 อาคารลักษณะพิเศษ ได้รับยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะดิ่งของห้องพักตาม ข้อ 15 และ ความกว้างของทางเดินในห้องพักรวม ตามข้อ 19
ข้อ 23 อาคารลักษณะพิเศษ ประเภท เต๊นท์ โครงสร้างแบบอัดอากาศ ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดดังนี้
23.1 วัสดุที่นำมาสร้างหรือประกอบต้องมีคุณสมบัติที่เกี่ยวกับการลามไฟตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในราชกิจจานุเบกษา
23.2 ติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือไม่น้อยกว่า 1 เครื่อง ต่อพื้นที่ใช้สอยรวมไม่เกิน 112 ตารางเมตร และให้มีระยะการเข้าถึงไม่เกิน 22.50 เมตร
23.3 ต้องมีที่ว่างภายนอกอาคารไม่น้อยกว่า 25 ใน 100 ส่วน ของพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารและอาคารแต่ละหลังจะต้องมีระยะห่างระหว่างกันโดยรอบไม่น้อยกว่า 3 เมตร โดยระยะห่างจากแนวสมอบกที่ยึดอาคารหรือส่วนริมสุดของอาคาร
23.4 ได้รับยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับโครงสร้างหลัก ตามข้อ 2.1
23.5 ได้รับยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับขนาดของห้องพัก ตามข้อ 14.1 และ 14.2 และต้องมีอัตราส่วนพื้นที่ห้องพักต่อผู้พักไม่น้อยกว่า 3 ตารางเมตร ต่อคน
ข้อ 24 อาคารลักษณะพิเศษ ประเภท ซากพาหนะที่นำมาดัดแปลงเพื่อเข้าอยู่อาศัยหรือใช้สอย เช่น รถหรือส่วนพ่วงของรถ รถไฟ เครื่องบิน เรือ และ ชิ้นส่วนวัสดุสำเร็จรูปท่ีนำมาประกอบหรือติดตั้ง เช่น ท่อคอนกรีตสำเร็จรูป ตู้คอนเทนเนอร์ ได้รับยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับขนาดของห้องพัก ตามข้อ 14.1 และ 14.2 และต้องมีอัตราส่วนพื้นที่ห้องพักต่อผู้พักไม่น้อยกว่า 3 ตารางเมตร ต่อคน
ข้อ 25 อาคารลักษณะพิเศษประเภทสิ่งก่อสร้างที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป โดยแขวน เกาะเกี่ยว ยึดโยง กับสภาพธรรมชาติหรือโครงสร้างหรือสิ่งก่อสร้างอื่นใด เช่น ห้องพักบนต้นไม้ ห้องพักที่แขวนไว้กับเสาหรือเครน ห้องพักที่ยึดโยงไว้กับหน้าผา ที่มีห้องพักตั้งแต่ 1 ห้อง และมีผู้พักได้ไม่เกิน 4 คน ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับบันไดที่มีลักษณะตาม ข้อ 4 แต่ต้องมีบันไดทางขึ้นลงที่เหมาะสมต่อสภาพการใช้งานและมีสิ่งป้องกันการตกที่ปลอดภัย
บทเฉพาะกาล
ข้อ 26 อาคารที่ก่อสร้างก่อนวันที่พระราขบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ใช้บังคับ และไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 หรือ พ.ร.บ. ควบคุมการก่อสร้างในเขตเพลิงใหม้ พ.ศ. 2476 และต้องการนำอาคารเก่าเหล่านี้มาดัดแปลงเพื่อประกอบธุรกิจโรงแรม ให้ได้รับยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับที่ว่างภายนอกอาคาร ช่องทางเดินในอาคาร แนวอาคาร ระยะดิ่งของอาคาร ระยะหรือระดับระหว่างอาคารกับอาคาร หรือเขตที่ดินของผู้อื่น หรือระหว่างอาคารกับถนน ตรอก ซอย ทางเท้า ทางหรือที่สาธารณะ บันได และที่จอดรถยนต์
การนำอาคารที่ก่อสร้างก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และจะนำมาดัดแปลงเพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ให้ใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับที่ว่างภายนอกอาคาร ช่องทางเดินในอาคาร แนวอาคาร ระยะดิ่งของอาคาร ระยะหรือระดับระหว่างอาคารกับอาคาร หรือเขตที่ดินของผู้อื่น หรือระหว่างอาคารกับถนน ตรอก ซอย ทางเท้า ทางหรือที่สาธารณะ บันได และที่จอดรถยนต์ ตามประเภทอาคารที่กฎหมายกำหนดในขณะที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารนั้น
ข้อ 27 อาคารตามข้อ 26 (อาคารเก่า) ที่ต้องการนำมาดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารมาประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
27.1 ต้องไม่เพิ่มพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นเกินร้อยละ 2 ของพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้น ตามที่เคยได้ใช้ประโยชน์ หรือตามที่เคยรับอนุญาตไว้ในครั้งแรก
27.2 ต้องไม่เพิ่มควมสูงของอาคาร
27.3 ต้องไม่เพิ่มพื้นที่ปกคลุมดิน
ข้อ 28 ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงตามข้อ 2.1 , 2.2 และ 2.3 ให้นำกฏกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2527) และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับเกี่ยวกับโครงสร้างหลักและวัสดุที่นำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารไปพลางก่อน จนกว่าจะมีกฎกระทรวงตามข้อ 2.1, 2.2 และ 2.3 ใช้บังคับ
การปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายโรงแรมฉบับนี้ ก็เนื่องมาจากทางภาครัฐได้เล็งเห็นว่ารูปแบบการประกอบธุรกิจโรงแรมในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่ะ ทั้งรูปแบบ ลักษณะ และรูปทรงของอาคาร ประกอบกับมีผู้สนใจอยากลงทุนในธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับโรงแรมฉบับนี้ ก็เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าผู้ที่ต้องการเข้ามาใช้บริการที่พักในโรงแรม และช่วยเอื้อประโยชน์ให้เจ้าของธุรกิจโรงแรมที่พักประเภทอาคารลักษณะพิเศษ เช่น เต๊นท์ แพ ตู้คอนเทนเนอร์ บ้านต้นไม้ รวมไปถึงอาคารลักษณะพิเศษที่ดัดแปลงมาจากซากยานพาหนะต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่สามารถจดแจ้งเพื่อขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ แต่เมื่อกฎกระทรวงฉบับนี้ประกาศใช้แล้วที่พักที่ลักษณะพิเศษเหล่านี้ก็สามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้แล้วค่ะ
และการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ในบทเฉพาะกาล สำหรับการนำอาคารเก่ามาดัดแปลงเปลี่ยนประเภทเป็นโรงแรมก็เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้นำเอาอาคารเก่าที่มีเอกลัษณ์เฉพาะตัวและมีคุณค่ามาดำเนินกิจการโรงแรมที่พักได้ เป็นการอนุรักษ์อาคารเก่าในชุมชนให้คงอยู่ และสามารถนำเอาประวัติศาสตร์ของอาคารเก่าเหล่านี้มาถ่ายทอดผ่านความคิดสร้างสรรค์นำเสนอเรื่องราวในอดีตที่เป็นตำนาน ใช้เป็นจุดขายที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่และช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนค่ะ
ฉันหวังว่าการงัดแงะแกะเกลาข้อกฎหมายในกฎกระทรวงฉบับนี้ให้เป็นภาษาที่คนธรรมดาทั่วไปสามารถอ่านและเข้าใจได้ง่ายขึ้น จะเป็นแนวทางให้คุณที่สนใจอยากลงทุนทำธุรกิจโรงแรมที่พักขนาดเล็ก ได้ใช้เป็นแนวทางสำหรับวางแผนการก่อสร้างธุรกิจโรงแรมที่พักขนาดเล็กของคุณในอนาคตค่ะ หรือหากคุณมีธุรกิจโรงแรมอยู่ก่อนแล้วแต่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ก็หวังว่าความรู้ที่ฉันแบ่งปันในบทความนี้จะช่วยคุณวางแผนการปรับปรุงแก้ไขโรงแรมของคุณให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อยื่นขอใบอนุญาตโรงแรมได้ง่ายขึ้นค่ะ
นี่เป็นความรู้และแรงบันดาลใจที่ฉันนำมาแบ่งปันให้กับคุณค่ะ ส่วนความรักและความสุขคุณต้องเติมใส่ลงไปเองนะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปค่ะ
กฎกระทรวง การกำหนดลักษณะและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2566

กฎกระทรวง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566

กฏกระทรวงฉบับที่ 55

กฎกระทรวงฉบับที่ 33

กฎกระทรวงฉบับที่ 6

“คุณสามารถเปลี่ยนตัวเองจากคนธรรมดาให้กลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ แค่เพียงมีความรู้ มีแรงบันดาลใจ และมีความสุข ฉันอยู่ที่นี่เพื่อจะแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ให้กับคุณค่ะ”
มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับหลักสูตร เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้
คอร์สอบรมที่ช่วยให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ภายใน 2 วัน
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ