
ความรู้เรื่องการเงินและการวิเคราะห์โครงการเพื่อช่วยตัดสินใจลงทุน เป็นเรื่องสำคัญมากที่คนทำ ธุรกิจโรงแรม และรวมถึงผู้ที่ต้องการลงทุนในโครงการใด ๆ ต้องศึกษาเรียนรู้ แต่คงไม่มีใครเถียงว่าตำราสอนธุรกิจนั้นเป็นเรื่องที่ดูเข้าใจยากและน่าเบื่อ จริงไหมคะ?
แสดงเนื้อหาเพิ่ม คลิกที่นี่
บีโทเฟนเป็นนักแต่งเพลงและนักดนตรีชื่อก้องโลกทั้งที่หูหนวกฉันใด ฉันนั้นแล้วผู้ที่ไม่เคยเรียนหลักการบัญชีและบริหารธุรกิจมาก่อนก็สามารถเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจได้
ถ้าคุณมีคำถามว่า แล้วเขาทำได้อย่างไรล่ะ?
เป็นเพราะเขามีพรสวรรค์ที่เก่งกาจเหนือมนุษย์หรือเปล่านะ ใคร ๆ ต่างก็รู้จักบีโทเฟนในฐานะที่เขาเป็นอัจฉริยะทางด้านดนตรี ถ้าคุณอยากรู้จักบีโทเฟนมากกว่านี้ประวัติของเขานั้นหาอ่านได้ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ มากกมาย แต่ที่ฉันกล่าวถึงบีโทเฟนในบทความนี้ก็เพราะอยากให้บีโทเฟนเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา จากชีวประวัติของบีโทเฟนกล่าวไว้ว่าในตลอดช่วงชีวิตของเขามีอุปสรรคนานัปการที่ต้องฝ่าฟัน จนส่งผลให้เขาเกิดความเครียดสะสามในใจจนเขากลายเป็นคนที่มีอารมณ์แปรปรวน แต่บีโทเฟนก็เอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยจิตใจที่แข็งแกร่งจนกลายเป็นนักแต่เพลงและนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ของโลกจนได้ในที่สุด ฉันจึงหวังว่าเรื่องราวของบีโทเฟนจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านหลาย ๆ ท่านที่ไม่ได้จบด้านบริหารธุรกิจและไม่ได้เป็นนักบัญชีหรือนักการเงินจะไม่ย่อท้อต่อการศึกษาเรียนรู้ ฉันเองก็เคยเป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่ไปเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่จนกระทั่งค้นพบตัวเองว่า สักวันหนึ่งฉันอยากมีอาณาจักรธุรกิจเป็นของตนเองบ้าง อยากเปลี่ยนตัวเองจากคนธรรมดาให้กลายเป็นนักธุรกิจ ดังนั้น ฉันจึงพยายามทุกวิธีที่จะเข้าใกล้กับความฝันให้ได้ และฉันก็รู้ว่าความรู้ในระดับปริญญาโท MBA ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ฉันสร้างธุรกิจขึ้นมาได้เลย ฉันจึงไปเข้าคอร์สอบรมหลักสูตรต่าง ๆ มากมายและสุดท้ายก็รวบรวมความกล้าลงมือสร้างธุรกิจโรงแรมเล็ก ๆ ขึ้นมาได้หนึ่งแห่ง แต่ถึงแม้จะสร้างธุรกิจขึ้นมาได้แต่ก็ขาดประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจในโลกของความเป็นจริง จึงต้องลองผิดลองถูกกันอยู่หลายปีกว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ใหม่อีกครั้ง ที่เกริ่นมาซะยาวเหยียดนี้ก็เพื่อจะเป็นกำลังใจให้กับผู้อ่านทุกท่านว่า คน ๆ หนึ่งไม่สามารถเก่งไปเสียหมดทุกอย่างหรอกค่ะ และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ ล้วนแต่มีความสามารถที่จะรู้วิธีก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเอง ต้องใช้ความอดทนและพยายามจนถึงที่สุด อย่ายอมให้ชีวิตมีข้อแม้ เพียงแค่เราไม่รู้ในวันนี้ไม่ได้แปลว่าวันข้างหน้าเราจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญไม่ได้ค่ะ
ฉันจัดทำเว็บไซต์ A-LISA.NET ก็เพื่อแบ่งปันความรู้เรื่องการทำธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กให้กับผู้ที่สนใจ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ๆ จากผู้อ่านหลาย ๆ ท่าน และการแบ่งปันความรู้นี้ก็เปิดโอกาสให้ฉันได้รู้จักพูดคุยกับเจ้าของโครงการธุรกิจโรงแรมมากมาย ทั้งที่เปิดกิจการไปแล้วและบางท่านยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ ซึ่งก็มีเสียงเรียกร้องออกมาว่าอยากให้ฉันแบ่งปันความรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการเงินและการลงทุนในธุรกิจโรงแรมบ้าง ตอนแรกฉันยังรู้สึกลังเลใจอยู่ด้วยคิดว่าจะหาวิธีนำเนื้อหาเชิงวิชาการและภาษาของนักการเงินมาเขียนอธิบายให้ท่านผู้อ่านที่ไม่เคยเรียนหรือมีพื้นฐานทางด้านการเงินและบัญชีมาก่อนเข้าใจได้อย่างไร และในเว็บไซต์อื่น ๆ ก็มีกูรูที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญทางการเงินเขียนบทความให้อ่านกันมากมาย
ต่อเมื่อฉันไปค้นเอาตำราเก่า ๆ มาเปิดดู และหาข้อมูลจากบทความบนเว็บไซต์เพื่ออยากทบทวนเนื้อหาทางด้านการเงินเพื่อนำไปประกอบในการให้คำปรึกษาในธุรกิจโรงแรม ฉันยังรู้สึกตาลายกับเนื้อหาและสูตรคำนวณต่าง ๆ แถมภาษาที่ใช้อธิบายสูตรและการแทนค่าในสูตรนั้นก็วกวนชวนปวดหัว ขนาดว่าฉันซึ่งเรียนจบ MBA และเคยผ่านหลักสูตรอบรมด้านการเงินจนสอบได้ Single License ของ กลต. มาแล้ว เมื่อไม่ได้หยิบมาใช้งานบ่อย ๆ ก็ยังมึนงงและลืมเลือนไปบ้าง
เมื่อเป็นดังนี้ จิตวิญญาณแห่งการแบ่งปันจึงประทุขึ้น ฉันจึงคิดอยากปัดฝุ่นความรู้และนำเนื้อหาด้านการเงินธุรกิจจมาเขียนเป็นบทความเพื่อแบ่งปันค่ะ และสำหรับคนที่อยากทำธุรกิจโรงแรมนั้นการวิเคราะห์โครงการเพื่อการตัดสินใจลงทุนก็เป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องรู้ค่ะ
ถ้าอย่างนั้นเราก็มาเริ่มต้นเรียนรู้ไปด้วยกันนะคะ ฉันจะพยายามเขียนเนื้อหาที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายและคุณสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้จริง ๆ มาแบ่งปันให้อย่างเต็มที่ และถ้าคุณได้ประโยชน์จากเนื้อหาในบทความของฉันก็อย่าลืมแชร์หรือบอกต่อให้กับคนที่คุณรักด้วยนะคะ เพราะการแบ่งปันความรู้คือพลังที่ยิ่งใหญ่ค่ะ
ในบทความก่อนหน้า ได้แบ่งปันความรู้เรื่องดัชนีชี้วัดความคุ้มค่าในการลงทุนไปแล้ว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่ ) เพื่อที่คุณจะได้หาคำตอบว่า โครงการนี้น่าลงทุนหรือไม่? แต่ก่อนที่คุณจะหาดัชนีชีวิตความคุ้มค่าในการลงทุนได้นั้น คุณต้องรู้วิธีจัดทำ ประมาณการกระแสเงินสดโครงการ หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Cash Flow Projection (CF) ให้เป็นเสียก่อน ประมาณการกระแสเงินสดนี้จะเกี่ยวข้องกับข้อมูลรายรับและรายจ่ายของโครงการ ซึ่งเมื่อเรานำรายรับ – รายจ่ายของโครงการ ก็จะทำให้ทราบว่า กระแสเงินสดสุทธิของโครงการจะเกินหรือขาด เป็นจำนวนเท่าใด และในกรณีที่กระแสเงินสดขาดหรือติดลบนั้นก็เป็นหน้าที่ของเจ้าของโครงการที่จะหาแหล่งเงินทุนมาเพื่อสนับสนุนกระแสเงินสดสุทธิที่ยังขาดอยู่ โดยแหล่งเงินที่นำมาใช้สนับสนุนโครงการนั้นมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่ ระดมทุนจากส่วนของเจ้าของและการก่อหนี้
ดังนั้นแล้ว ก่อนที่คุณจะเรียนรู้เรื่องการจัดทำประาณการกระแสเงินสด ฉันจึงอยากให้คุณได้รู้จักกับ สมการทางบัญชี เพื่อจะทำให้คุณนั้นเข้าใจการลงทุนผ่าน งบดุล และ งบกำไรขาดทุน ก่อนค่ะ
รู้จักงบดุล
คำว่า งบดุล (Balance Sheet) นั้น ความจริงในตอนนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วแะลได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น งบแสดงฐานะการเงิน (Statement of Financial Position) เพื่อให้ชื่องบการเงินแสดงความหมายที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อจาก งบดุล เป็น งบแสดงฐานการเงิน ?
จากข้อมูลที่ค้นหามาได้บอกว่าชื่องบดุบนั้นไม่ได้แสดงความหมายที่ชัดเจนค่ะ เพียงแต่บอกให้รู้เป็นนัยว่า สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ แต่ยังไม่มีความหมายอื่นที่ทำให้เข้าใจว่างบดุลคืออะไร ดังนั้น มาตรฐานทางการเงินของต่างประเทศจึงมีการเปลี่ยนชื่อจาก Balance Sheet เป็น Statement of financial position และประเทศไทยของเราก็นำมาใช้ปรับชื่อให้ถูกต้องตามมาตรฐานรายงานทางการเงินของต่างประเทศ จึงทำให้ งบดุล ที่เรารู้จักนั้นเปลี่ยนชื่อมาเป็น งบแสดงฐานะการเงิน ค่ะ
งบดุลหรืองบแสดงฐานะทางการเงิน คืองบการเงินที่แสดงให้เห็นถึงฐานะการเงินของบริษัทว่าเป็นอย่างไร ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทมีทรัพย์สิน หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนเท่าใด เขียนเป็นสมาการได้ดังนี้
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ
งบดุลจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ส่วนสินทรัพย์ และส่วนหนี้สินรวมส่วนของเจ้าขอ และทั้งสองฝั่งจะต้องเท่ากันเสมอ
โครงสร้างของงบดุล ประกอบด้วย
1. สินทรัพย์ (Assets)
1.1 สินทรัพย์หมุนเวียน (Cerrent Assets) คือ สิทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงมาก สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี เช่น เงินสดที่กิจการมีอยู่ เงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ เป็นต้น
1.2 สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (Non-Cerrent Assets) คือ สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำที่ใช้ดำเนินงานทั่วไป และมีอายุการใช้งานมากกว่า 1 ปี เช่น ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เช่น เครื่องจักร รถยนต์ สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เช่น ค่าลิขสิทธิ์ ค่าสัมปทาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
2. หนี้สิน (Liabilities)
2.1 หนี้สินหมุนเวียน (Cerrent Liabilities) คือ หนี้สินระยะสั้นที่เป็นภาะผูกพัน ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานในอดีตจนถึงปัจจุบันที่บริษัทต้องจ่ายเงินออกไปภายใน 1 ปี เช่น เจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย รายได้รับล่วงหน้า เป็นต้น
2.2 หนี้สินไม่หมุนเวียน (Non-Current Liabilities) คือ หนี้สินระยะยาวที่เป็นภาระผูกพัน ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานในอดีตจนถึงปัจจุบันที่บริษัทต้องจ่ายเงินออกไปโดยมีระยะเวลาในการจ่ายมากกว่า 1 ปี เช่น เงินกู้ยืมระยะยาว หุ้นกู้ระยะยาว เป็นต้น
3. ส่วนของผู้ถือหุ้น (Owner ’s Equity)
3.1 ทุน คือเงินลงทุนที่เจ้าของบริษัทร่วมกันลงทุนในบริษัทตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นแต่ละคน ส่วนของเจ้าของ
ประกอบด้วย
3.1.1 ทุนเรือนหุ้น (Share Capital) หมายถึง การนำเงินมาลงทุนของเจ้าของกิจการ ได้แก่
- ทุนที่กิจการไปจดทะเบียนตามกฎหมาย
- ต้องแสดงชนิดของหุ้น (เป็นหุ้นสามัญ หรือ หุ้นบริมสิทธิ) จำนวนหุ้น และมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียน (ราคา Par)
3.1.2 ทุนที่ออกและชำระแล้ว
- หุ้นและมูลค่าหุ้นที่นำออกจำหน่ายและเรียกให้ชำระมูลค่าหุ้นแล้ว
- เป็นหุ้นจริงที่มีอยู่ ณ ขณะนี้
3.1.3 ส่วนเกินมูลค่าหุ้น
– เงินค่าหุ้นส่วนที่สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ์
3.2 กำไร (ขาดทุน) สะสม (Retained Earnings) คือกำไรสะสมที่บริษัทหามาได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและยังไม่ได้จ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น กำไรสะสมแบ่งออกเป็น
3.2.1 กำไรสะสมจัดสรรแล้ว
- เป็นกำไรสะสมที่กันไว้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จัดสรรไว้เป็นเงินสำรองตามกฎหมาย
3.2.2 กำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร
- เป็นกำไรสะสมคงเหลือหลังจากที่ได้จัดสรรแล้ว สามารถนำไปจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้
- หมายเหตุ : ถ้าหากกิจการมีผลขาดทุนเรื่อย ๆ จนค่าติดลบจะเป็น ขาดทุนสะสม


อธิบายความหมายเพิ่มเติมในงบแสดงฐานะทางการเงิน
ด้านสินทรัพย์
- เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด หมายถึง รายการเงินสดในเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากประจำ
2. ลูกหนี้การค้า หมายถึง รายการขายแต่ยังไม่ได้รับเงิน
3. วัตถุดิบคงเหลือ หมายถึง สินค้าที่จัดไว้เพื่อใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อแปรสภาพเป็นสินค้าสำเร็จรูปต่อไป
4. สินค้าคงเหลือ หมายถึง สินค้าที่มีไว้เพื่อขายของบริษัท
5. สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น ๆ หมายถึง สินทรัยพ์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เช่น ตั๋วรับเงิน วัสดุสำนักงานประเภทเครื่องเขียน เงินกู้ยืมระยะสั้น เป็นต้น
6. เครื่องจักร หมายถึง เครื่องมือที่ช่วยในการผลิต
7. อาคาร หมายถึง อาคารที่ใช้ดำเนินกิจการ
(สินทรัพย์ประเภทอาคารและอุปกรณ์ อย่างเช่น อาคารโรงงาน เครื่องจักร รถยนต์ ต้องมีการคิดค่าเสื่อมราคา เนื่องจากมีลักษณะเสื่อมสภาพจากการใช้งานหรือตามระยะเวลาที่ผ่านไป
8. ที่ดิน เป็นทรัพย์สินที่มีตัวตนที่จับต้องได้หรือมองเห็นได้ มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานโดยไม่มีเจตนาที่จะขาย ที่ดินจะไม่มีการคิดค่าเสื่อมราคาเพราะโดยปกติมักจะไม่เสื่อมสภาพ ยกเว้นที่ดินติดแม่น้ำหรือที่ดินที่ใช้เพาะปลูกที่เสื่อมสภาพ ให้ผลผลิตต่ำ ขาดความอุดมสมบูรณ์ไม่สมารถปลูกพืชได้อีกต่อไป
9. สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เป็นสินทรัพย์ที่มองไม่เห็น ไม่สามารถจับต้องได้ เช่น ค่าลิขสิทธิ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ด้านหนี้สิน
- เจ้าหนี้การค้า หมายถึง เจ้าหนี้ค่าสินค้าที่ทางบริษัทซื้อสินค้าและได้รับของแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระเงินให้กับเจ้าหนี้
2. เงินเบิกเกินบัญชี หมายถึง รูแปบบหนึ่งที่ธนาคารให้กิจการกู้ยืมเงินโดยกิจการสามารถเบิกเงินโดยใช้เช็ค ผ่านบัญชีกระแสรายวัน ซึ่งจะเบิกกี่ครั้งก็ได้แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่ธนาคารกำหนดให้
ด้านส่วนของเจ้าของ
- ทุนจดทะเบียน หมายถึง จำนวนเงินที่ผู้เร่ิมกิจการตกลงกันว่าจะใช้เงินลงทุนที่เท่าไรดี ในการแจ้งจดทะเบียนบริษัทกับทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวนทุนจดทะเบียนจะปรากฎในหนังสือรับรองบริษัท ตามกฎหมายระบุว่าผู้เร่ิมก่อการหรือผู้ร่วมทุนจะต้องมีอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป ซึ่งทุนจดทะเบียนจะถูกแบ่งออกเป็นหุ้น หุ้นละเท่า ๆ กัน และมูลค่าของหุ้นต้องไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 5 บาท
2. กำไร(ขาดทุน)สะสม หมายถึง ผลกำไรหรือขาดทุนสุทธิสะสมที่บริษัทสามารถทำมาหาได้ตั้งแต่เปิดบริษัทเป็นต้นมา หลังจากหักเงินปันผบที่ได้ประกาศจ่ายให้ผู้ถือหุ้นในแต่ละปี
เมื่อคุณรู้จักงบดุลหรืองบแสดงฐานะการเงินแล้ว คุณก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า การสร้างสินทรัยพ์ในกิจการนั้นเกิดจากหนี้สินรวมกับส่วนทุนนั่นเองค่ะ และถ้าคุณเข้าใจงบดุลเป็นอย่างดีมันจะช่วยให้คุณเข้าใจหลักการบริหารการเงินและสามารถผสมผสานหนี้สินกับส่วนทุนได้ในอัตราส่วนที่เหมาะสม คุณก็จะสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กิจการได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ากิจการมีขนาดใหญ่และมีหนี้สินจำนวนมาก ในขณะที่ส่วนทุนมีจำนวนน้อยและมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูง กรณีเช่นนี้จะส่งผลให้กิจการไม่มีความมั่นคงและเสี่ยงต่อการล้มละลายได้ค่ะ
รู้จักงบกำไรขาดทุน
งบกำไรขาดทุน (Income Statement) คือรายงานแสดงยอดขายและคาใช้จ่ายของบริษัท เพื่อแสดงให้เห็นกำไรสุทธิในแต่ละงวดบัญชี เช่น รายเดือน รายไตรมาศ หรือรายปี งบกำไรขาดทุนเป็นงบที่มีความสำคัญมากที่สุดงบหนึ่ง เนื่องจากทำให้เราเห็นภาพผลการดำเนินงานและผลประกอบการของบริษัท ว่ามียอดขายเท่าไร ค่าใช้จ่ายเท่าไร และทำให้เราเห็นกำไรหรือขาดทุนสุทธิของกิจการ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถปรับปรุงการดำเนินงานและคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคตได้
โครงสร้างของงบกำไรขาดทุน มีดังนี้
- รายได้ (Income) หมายถึง รายได้ที่ธุรกิจได้จากการขายสินค้าหรือบริการต่าง ๆ และรวมรายได้จากการลงทุนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รายได้หลักจากการประกอบธุรกิจ เช่น รายได้จากดอกเบี้ย กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ กำไรจากการขายสินทรัพย์ถาวร รายได้จากค่าเช่า เป็นต้น
2. รายจ่าย (Expense) หมายถึง รายจ่าย หรือต้นทุนจากการขาย จากการบริหาร หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น ต้นทุนค่าสินค้า ค่าโฆษณา เงินเดือนพนักงาน เป็นต้น
3. กำไร (Profit) หมายถึง กำไรที่ได้จากการประกอบธุรกิจ ซึ่งก็คือรายได้ทั้งหมดหักลบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด

อธิบายความหมายเพิ่มเติมในงบกำไรขาดทุน
1. รายได้จากการขาย (Sale Revenue) หมายถึง รายได้ที่เกิดจากการขายสินค้าหรือบริการอันเป็นรายได้จากการดำเนินงาน เช่น รายได้จากการให้บริการห้องพักของโรงแรม รายได้จากการขายสินค้าของที่ระลึก เป็นต้น
2. ต้นทุนขายสินค้า (Cost of Goods Sold) หมายถึง ต้นทุนที่ได้มาของสินค้า เช่น หากธุรกิจประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตสินค้า ต้นทุนขายหมายรวมถึง ต้นทุนในกระบวนการผลิตทั้งหมด เช่น ต้นทุนค่าวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ใช้ในการผลิต ต้นทุนขายคือสินค้าที่กิจการได้ขายไปในระหว่างต้นงวดบัญชีจนถึงปลายงวดบัญชี กิจการสามารถคำนวณต้นทุนขายเขียนเป็นสมการได้ดังนี้
ต้นทุนขาย = สินค้าคงเหลือต้นงวด + ซื้อสุทธิ – สินค้าคงเหลือปลายงวด
3. กำไรเบื้องต้น (Gross Profit) หมายถึง กำไรที่ได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว เขียนเป็นสมการได้ดังนี้
กำไรขั้นต้น = ยอดขาย – ต้นทุนขาย
4. ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ (Selling, General & Administrative Expense) เรียกสั้น ๆ ว่า SG&A คือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร เช่น เงินเดือนและค่าคอมมิชชั่นพนักงานขาย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ หนี้สูญ เป็นต้น
5. กำไรสุทธิ (Net Profit) หมายถึง รายได้สุทธิที่ช่วยบอกมูลค่าผลการดำเนินงานของกิจการ หลังหักรายจ่ายทั้งหมดในงบกำไรขาดทุนเรียบร้อยแล้ว
Net Profit สามารถนำไปใช้จ่อยอดในการคำนวณอัตราส่วนต่าง ๆ ที่มีความสำคัญทางการเงินและเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์โครงการลงทุน เช่น Return on Asset (ROA) , Return on Equity (ROE) , และ Earning Per Share (EPS) หรือกำไรสะสม เป็นต้น
(เนื้อหาดังกล่าวนี้ จะทยอยให้เขียนให้อ่าน แบ่งปันเพื่อการเรียนรู้ในบทความต่อไปนะคะ)
รู้จักประมาณการกระแสเงินสด
เป้าหมายของการจัดทำประมาณการกระแสเงินสดของโครงการ
- สามารถประมาณการกระแสเงินสดรับ-จ่าย เพื่อเข้าใจสภาพคล่องของบริษัทในปัจจุบันและนาคต
- เป็นเครื่องมือในการวางแผนมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง และวิธีจัดหาเงินสดเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพคล่องที่จะเกิดขึ้นในยามที่เกิดวิกฤตได้
เมื่อคุณรู้จักงบดุลและงบกำไรขาดทุนแล้ว คุณคงจะทราบแล้วว่าการเกิดขึ้นของโครงการใดโครงการหนึ่งนั้น เกิดจากการที่ผู้ลงทุนใส่เงินลงทุนลงไปและเงินลงทุนก็มาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนของเจ้าของและส่วนของหนี้สิน ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนของโครงการ (Cost ; C) อยู่ในด้านประมาณการกระแสเงินสดจ่าย
ในขณะเดียวกัน การนำเงินมาลงทุนในโครงการ ก็จะก่อให้เกิดรายรับหรือผลประโยชน์ของโครงการ (Benefit ; B) ซึ่งจะอยู่ในด้านประมาณการกระแสเงินสดรับ
กลุ่มข้อมูล ประมาณการกระแสเงินสดรับ (B) และประมาณการกระแสเงินสดจ่าย (C) จะถูกนำมาใช้เปรียบเทียบกันว่า B กับ C ตัวใดจะมากกว่ากัน หากผลการเปรียบเทียบพบว่า B มากกว่า C หมายความว่าโครงการนี้มีรายรับมากกว่ารายจ่าย โครงการเกิดกำไร ผู้ลงทุนจึงตัดสินใจลงทุนในโครงการนี้

กำไรสุทธิ 100 ล้านบาท ของโครงการ A อาจเรียกได้ว่าเป็นภาพลวงตา เพราะไม่ได้สะท้อนมูลค่าของเงินที่แท้จริง เนื่องจากการคาดการณ์รายรับ (B) และรายจ่าย (C) ของโครงการในแต่ละปีเป็นเรื่องของอนาคตซึ่งมีปัจจัยเรื่องของระยะเวลาและดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น คุณจึงต้องนำเงินสดที่ได้รับจากโครงการนี้ในปีที่ 1 และปีที่ 2 มาเปลี่ยนให้อยู่ในรูปมูลค่าของเงิน ณ ปัจจุบัน (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง มูลค่าของเงินที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา คลิกที่นี่) และนำเงินที่อยู่ในรูปมูลค่าปัจจุบันแล้วมาหาค่า NPV เพื่อวิเคราะห์ต่อไปว่าโครงการนี้สมควรลงทุนหรือไม่?

จากตัวอย่าง คุณจะเห็นว่าผลตอบแทนสุทธิของโครงการ เท่ากับ 84.30 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างจากการคำนวณโดยที่ยังไม่ปรับมูลค่าของเงินในรูปปัจจุบัน ให้ผลตอบแทนเท่ากับ 100 ล้านบาท (แตกต่างกัน 15.70 ล้านบาท)
จากตัวอย่างนี้ อธิบายได้ว่า โครงการ A ที่ใช้เงินลงทุน 1,200 ล้านบาท มีระยะเวลาลงทุน 2 ปี ให้ผลตอบแทนสุทธิ (NPV) = 84.30 ล้านบาท ซึ่งมีค่าเป็นบวก ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าโครงการนี้สามารถลงทุนได้เนื่องจากกิจการมีกำไร
อัตราดอกเบี้ยในสูตรการหามูลค่าปัจจุบันของเงิน ควรเป็นอัตราไหนดี?
อัตราดอกเบี้ย ส่งผลต่อมูลค่าเงินปัจจุบันของกำไรสุทธิของโครงการที่ผู้ลงทุนจะได้รับในแต่ละปี และเนื่องจากการจัดทำประมาณการกระแสเงินสดเป็นเรื่องของการคาดการณ์อนาคน ซึ่งผู้ลงทุนต้องคาดการณ์ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ (B) ต้นทุนโครงการ (C) อัตราดอกเบี้ย (r) และจำนวนปี (n) ดังนั้น การเพิ่มขึ้นและลดลงชองดอกเบี้ยจึงส่งผลกระทบกับการตัดสินใจลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะถ้าดอกเบี้ยต่ำ ก็หมายความว่าต้นทุนการกู้ยืมเงินก็จะต่ำไปด้วย ซึ่งเมื่อนำมาคูณกับมูลค่าเงินในอนาคต (FV) ก็จะทำให้มูลค่าเงินในปัจจุบัน(PV) สูงขึ้น โครงการจึงมีศักยภาพน่าลงทุน
ในหลักปฏิบัติทั่วไป นักวิเคราะห์ด้านการเงินจึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่นำมาใช้ในสูตรการหามูลค่าปัจจุบันของเงิน ดังนี้ค่ะ
- กรณีที่โครงการใช้เงินลงุทของเจ้าของทั้งหมด ไม่มีการกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่น อัตราดอกเบี้ยที่มักนำมาใช้กำหนดคือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ทั้งนี้เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และมีนัยว่า ถ้าหากคุณนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนโครงการคุณก็จะเสียโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ จึงเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสหรืออัตราคิดลด (Discount Rate) ที่นำมาใช้คำนวณ
ตัวอย่าง
สมมติว่าในตอนนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำคือ 3% ถ้านาย A ต้องการถอนเงินธนาคารจำนวน 5 ล้านบาท มาลงทุนก่อสร้างโครงการโรงแรม นาย A ก็จะเสียผลประโยชน์ในรูปอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับในอัตรา 3% ซึ่งอัตราดอกเบี้ย 3% นี้ เรียกว่าต้นทุนค่าเสียโอกาส ดังนั้น หากคุณต้องการหามูลค่าปัจจุบันของเงิน และค่า NPV ของโครงการโรงแรมนี้ ค่า r ในสูตรจึงเท่ากับ 3%
แต่เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยงมากกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคาร ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าคุณอาจจะขาดทุนจากโครงการนี้จนทำให้ขาดทุนหรือสูญเสียเงินลงทุน เมื่อเป็นดังนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องคิดปกป้องเงินลงทุนของตนเองเอาไว้ โดยวิธีปกป้องเงินลงทุนที่ดีที่สุดก็คือการบวก ค่าความเสี่ยง (Risk Premium) เข้าไปกับต้นทุนค่าเสียโอกาสของเงินทุนด้วย
จากตัวอย่าง r = 3% นาย A อาจจะบวก Risk Premium เพิ่มเข้าไปอีสัก 2% กลายเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสหรืออัตราคิดลดที่แท้จริงเท่ากับ 5% (r = 5%)
2. กรณีที่โครงการลงทุนมีการกู้ยืมเงินบางส่วน โดยใช้เงินทุนของตนเองส่วนหนึ่ง อัตราดอกเบี้ยหรืออัตราคิดลดมักจะใช้เกณฑ์เท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่โครงการได้รับ หรืออัตราดอกเบี้ยอาจคิดด้วยเกณฑ์เฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยมีการถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนที่ใช้ในการลงทุน แต่โครงการส่วนใหญ่มักจะใช้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเป็นหลัก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผลแห่งการวิเคราะห์จะได้มีการเผื่อไว้สำหรับเหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น อัตราดอกเบี้ยยังคงสูง และโครงการก็ยังสามารถทำกำไรได้ก็ถือว่าโครงการนั้นน่าลงทุน
ตัวอย่าง
สมมติว่านาย B ต้องการก่อสร้างโรงแรมด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาท โดยใช้เงินลงทุนส่วนตัว 4 ล้านบาท และใช้เงินกู้ยืมจากธนาคาร 6 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 10% นาย B มีต้นทุนค่าเสียโอกาสจากเงินฝากธนาคารอยู่ที่ 3% แต่นาย Bไม่เคยทำธุรกิจโรงแรมมาก่อนจึงรู้สึกว่าการลงทุนมีความเสี่ยงสูง นาย B จึงบวก ค่าความเสี่ยง (Risk Premium) เพิ่มเข้าไปอีก 2% ดังน้ัน ต้นทุนค่าเสียโอกาสของนาย B จึงเท่ากับ 5%
เมื่อเงินลงทุนมาจาก 2 ทาง จึงเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสทั้ง 2 ทางซึ่งแต่ละทางก็มีสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น นาย B จึงต้องทำการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยการหาค่า WACC ซึ่งก็คืออัตราต้นทุนค่าเสียโอกาสหรืออัตราคิดลด (Discount Rate) ของโครงการเพื่อนำไปคำนวณหามูลค่าปัจจุบันของเงินและ NPV

3. บางครั้งอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราคิดลดก็ถูกกำหนดขึ้นมาเอง กรณีนี้ใช้สำหรับเจ้าของโครงการที่มีทางเลือกในการลงทุนมากกว่า 1 โครงการ และไม่สนใจอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำหรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เช่น นาย C มีอาชีพเป็นนักเล่นหุ้น ที่ได้รับอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 35% ต่อปี นั่นหมายความว่า ถ้านาย C ลงทุนในหุ้นจำนวน 1,000,000 บาท นาย C จะได้รับผลตอบแทนปีละ 350,000 ดังนั้น หากคุณเป็นเพื่อนกับนาย C และต้องการทาบทามนาย C มาร่วมหุ้นทำธุรกิจโครงการโรงแรม อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของนาย C ต้องไม่ต่ำกว่า 35%
ในทางตรงกันข้าม นางสาว D เป็นข้าราชการประจำ และมีเงินฝากอยู่ในธนาคารเพื่อรับผลตอบแทนในรูปอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ แต่แล้ววันหนึ่งเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ธนาคารต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงมาที่ 2% ต่อปี และถ้าคุณต้องการไปทาบทามนางสาว D มาร่วมลงทุนโครงการโรงแรมด้วย โดยคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะให้อัตราผลตอบแทน 20% ต่อปี เมื่อนางสาว D เปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ได้รับที่ 2% จึงเป็นไปได้ว่านางสาว D อาจตกลงใจร่วมลงทุนในโครงการโรงแรมกับคุณ ที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ 20% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่านางสาว D เคยได้รับ
ดังนั้น อัตราคิดลด (r) ในกรณีนี้ จึงขึ้นอยู่กับอุปนิสัย พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคลค่ะ
ฉันหวังว่าเนื้อหา หลักการบัญชีเบื้องต้นอย่าง งบดุล งบกำไรขาดทุน และการจัดทำประมาณการกระแสเงินสดที่นำมาแบ่งปันให้อ่านในบทนี้ จะช่วยเพิ่มความเข้าใจด้านการเงินให้กับคุณผู้อ่านได้มากขึ้นนะคะ มันอาจเข้าใจยากเสียหน่อยหากคุณไม่มีพื้นฐานมาก่อน แต่ฉันก็อยากขอให้คุณยอมเสียสละเวลาอันมีค่าวันละนิดเพื่อทำความเข้าใจกับมัน เพราะความรู้พื้นฐานในสมการบัญชีในบทนี้จะนำพาให้คุณเข้าใจวิธีการจัดทำประมาณการกระแสเงินสดที่ซับซ้อนขึ้น และช่วยคุณวิเคราะห์โครงการธุรกิจโรงแรม ได้ง่ายและแม่นยำขึ้นในบทต่อไปค่ะ
ขอบคุณที่เสียสละเวลาเข้ามาอ่าน แล้วพบกันในบทความต่อไปนะคะ
“เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ คือพลังที่ยิ่งใหญ่”
ขอให้ทุกท่านจงสร้างธุรกิจโรงแรมที่ดี มีคุณภาพเพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยของเรา
หากคุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ และบอกต่อด้วยนะคะ
มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับหลักสูตร เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้
คอร์สอบรมที่ช่วยให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ภายใน 2 วัน
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ