
คำถามยอดฮิตของมือใหม่ที่อยากออกมาทำธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็กหรือแม้กระทั่งธุรกิจประเภทอื่น ๆ คือถ้าจะเริ่มต้นเลือกรูปแบบธุรกิจประเภทไหนดี ระหว่างจัดตั้งบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นชื่อตนเอง
คลิกอ่านต่อ ที่นี่
เมื่อคุณตัดสินใจได้แล้วว่า อนาคตที่เหลือของคุณนับจากนี้ไปคุณจะออกมาตามล่าหาความฝันด้วยการสร้างธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ทในฝันให้กลายเป็นจริงเสียที จึงยอมทุบหม้อของตนเองในองค์กรบริษัทที่มั่นคงแล้วเดินทางเข้าสู่เส้นทางสายธุรกิจ เมื่อตัดสินใจลงไปแล้วนับจากนี้ขั้นตอนต่อไปของคุณก็คือการเริ่มต้นลงมือทำ แต่คุณที่เป็นนักธุรกิจมือใหม่ก็คงจะมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่าจะเลือกรูปแบบธุรกิจแบบไหนดีให้เหมาะสมกับขนาดของธุรกิจคุณ เพราะการเลือกรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมกับธุรกิจนั้นมันส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของธุรกิจในอนาคตด้วยค่ะ
รูปแบบและประเภทของธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก
รูปแบบกิจการเจ้าของคนเดียว
กิจการเจ้าของคนเดียว (Sold Proprietorship) คือ กิจการที่มีบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของ หรือลงทุนคนเดียว ควบคุมดำเนินการเองทั้งหมด เมื่อกิจการประสบผลสำเร็จมีผลกำไรก็จะได้รับผลประโยชน์เพียงคนเดียว แต่หากขาดทุนก็ต้องรับผิดชอบเพียงคนเดียว กิจการประเภทนี้มีอยู่ทั่วประเทศ ได้รับความนิยมสูงสุดและเป็นธุรกิจที่เก่าแก่เนื่องจากความง่ายในการก่อตั้ง การดำเนินงานไม่สลับซับซ้อน มีความคล่องตัวสูง เจ้าของสามารถดำเนินการตัดสินใจได้ทันที กิจการมีขนาดเล็กกว่าธุรกิจประเภทอื่น
ลักษณะของกิจการเจ้าของคนเดียว
1. มีเจ้าของกิจการเพียงคนเดียว ใช้เงินลงทุนน้อย
2. มีความรับผิดชอบในหนี้สินทั้งหมดไม่จำกัดจำนวน เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินของเจ้าของได้ ถ้าทรัพย์สินของกิจการไม่เพียงพอชำระหนี้
3. ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งผลกำไรและผลขาดทุนเพียงคนเดียว
4. การควบคุมการดำเนินงานโดยเจ้าของกิจการคนเดียว
หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการ
1. ขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน
2. แสดงใบทะเบียนพาณิชย์หรือใบแทนไว้ ณ สำนักงานในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย
3. จัดให้มีป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบการไว้หน้าสำนักงานโดยเปิดเผยภายในเวลา 30 วัน นับแต่วันที่จดทะเบียนพาณิชย์ โดยเขียนเป็นอักษรไทย อ่านง่ายและชัดเจน จะมีอักษรต่างประเทศในป้ายชื่อด้วยก็ได้ ตรงกับชื่อที่จดทะเบียนไว้ ถ้าเป็นสำนักงานสาขาจะต้องมีคำว่า “สาขา” ไว้ด้วย
4. ต้องไปให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายการจดทะเบียนตามคำสั่งของนายทะเบียน
5. อำนวยความสะดวกให้แก่นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเข้าทำการตรวจสอบในสำนักงานของผู้ประกอบกิจการ
ข้อดีและข้อเสียของกิจการเจ้าของคนเดียว
ข้อดี
1. จัดตั้งง่ายใช้เงินทุนน้อย
2. มีอิสระในการตัดสินใจดำเนินงานโดยเจ้าของคนเดียว ทำให้รวดเร็วคล่องตัว
3. ได้รับผลกำไรทั้งหมดเพียงคนเดียว
4. รักษาความลับกิจการได้ดีเพราะรู้คนเดียว
5. มีข้อบังคับทางกฎหมายน้อย
6. การเลิกกิจการทำได้ง่าย
ข้อเสีย
1. ขยายกิจการยากเพราะเงินทุนน้อย
2. การตัดสินใจคนเดียวอาจมีข้อผิดพลาดง่าย
3. ถ้าขาดทุนจะรับผิดชอบในหนี้สินไม่จำกัดจำนวนเพียงคนเดียว
4. ระยะเวลาดำเนินงานสั้น ถ้าเจ้าของเสียชีวิตอาจหยุดชะงักหรือเลิกกิจการ
5. ความสามารถในการบริหารงานมีจำกัด
รูปแบบกิจการห้างหุ้นส่วน
ห้างหุ้นส่วน (Partnership) คือ กิจการที่มีบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปเป็นเจ้าของ โดยตกลงร่วมทุนกัน ซึ่งจะลงทุนเป็นเงินสด สินทรัพย์อื่นหรือแรงงานก็ได้ ผู้เป็นหุ้นส่วนจะตกลงทำสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน สัญญานี้อาจทำด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้
ประเภทของห้างหุ้นส่วน
ห้างหุ้นส่วนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ และห้างหุ้นส่วนจำกัด
1.ห้างหุ้นส่วนสามัญ (Ordinary Partnership) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.1 ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน ซึ่งไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกเดียว โดยทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันในบรรดาหนี้สินทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนไม่จำกัดจำนวน ซึ่งจะตกลงกันด้วยวาจาหรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้
โดยหุ้นส่วนต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน เรียกว่า “หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด” หากไม่ได้จดทะเบียนจะมีลักษณะเป็นบุคคลธรรมดา
1.2 ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
การที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาลงทุน และเป็นเจ้าของกิจการร่วมกันเรียกว่า “หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด” ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในหนี้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจอย่างไม่จำกัดจำนวน ห้างหุ้นส่วนสามัญนี้จะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลซึ่งมีรายการดังนี้
1. ชื่อห้างหุ้นส่วน
2. วัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน
3. ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสาขา
4. ชื่อและสำนัก อาชีพของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
5. ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ
6. ข้อจำกัดอำนาจของห้างหุ้นส่วนผู้จัดการ (ถ้ามี)
7. ตราของห้างหุ้นส่วน
ลักษณะของหุ้นส่วนสามัญ
1. มีผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
2. มีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกเดียว คือ หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดชอบ
3. ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนเข้าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้
4. จดทะเบียนหรือไม่ก็ได้ ถ้าจดทะเบียนเรียกว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล”
2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership) คือ ห้างหุ้นส่วนที่มีผู้เป็นหุ้นส่วน 2 จำพวกได้แก่
2.1 หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ได้แก่ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งรับผิดจำกัดเพียงจำนวนเงิน ตนรับว่าจะลงทุนในห้างหุ้นส่วนเท่านั้น
2.2 หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ได้แก่ หุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งรับผิดในบรรดาหนี้สินทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน
ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะแตกต่างกับห้างหุ้นส่วนสามัญตรงที่ว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนหนึ่งคนหรือมากกว่าจะรับผิดชอบต่อหนี้สินที่เกิดขึ้นของห้างหุ้นส่วนโดยจำกัดจำนวน คือ ไม่เกินจำนวนเงินที่หุ้นส่วนคนนั้น ๆ ลงทุนในห้างหุ้นส่วน นอกจากนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมีเงื่อนไข คือ
1. ต้องมีหุ้นส่วนที่เป็นหุ้นส่วนสามัญ คือรับผิดชอบในวงเงินไม่จำกัดอย่างน้อยหนึ่งคน
2. ชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัดจะเป็นชื่อเดียวกับชื่อของกิจการหรือไม่ก็ได้
หุ้นส่วนมี 2 จำพวก คือ จำพวกที่ต้องรับผิดในหนี้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่จำกัดจำนวนเรียกว่า “หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด” และอีกพวกหนึ่งซึ่งรับผิดในหนี้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่เกินจำนวนเงินที่ตกลงจะร่วมลงทุนด้วย เรียกว่า “หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด” ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งต้องมีรายการดังนี้
1. ชื่อห้างหุ้นส่วน
2. ข้อแถลงและวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน
3. ที่ตั้งสำนักงานใหญ่และสาขา
4. ชื่อ ยี่ห้อ สำนัก และอาชีพผู้เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดและจำนวนเงินที่ลงในห้างหุ้นส่วน
5. ชื่อ ยี่ห้อ สำนักและอาชีพของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด
6. ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ
7. อำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการอันจะผูกพันห้างหุ้นส่วน (ถ้ามี)
ลักษณะของห้างหุ้นส่วนจำกัด
1. มีผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
2. ผู้เป็นหุ้นส่วนมี 2 จำพวก คือ
· จำพวกจำกัดความรับผิดชอบ รับผิดเฉพาะจำนวนเงินที่จะลงทุนในห้างหุ้นส่วน
· จำพวกไม่จำกัดความรับผิดชอบ รับผิดในบรรดาหนี้ในห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน
3. ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ
4. ต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การดำเนินการจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
เมื่อบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงที่จะเข้าร่วมลงทุนประกอบกิจการเป็นห้างหุ้นส่วนประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว หุ้นส่วนผู้จัดการมีหน้าที่ดำเนินการขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่ห้างมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ ถ้าห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้ที่จะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต้องเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น
หน้าที่ของห้างหุ้นส่วน
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ที่จดทะเบียนตามกฎหมาย ต้องจัดทำงบการเงินประจำปี ยื่นต่อสำนักบริหารข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักงานทะเบียนการค้าจังหวัดแล้วแต่กรณี ภายใน 5 เดือนนับแต่วันปิดรอบปีบัญชี แม้ว่าจะยังมิได้ประกอบกิจการก็ตาม มิฉะนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
ข้อดีและข้อเสียของกิจการห้างหุ้นส่วน
ข้อดี
1. ก่อตั้งง่าย
2. มีเงินลงทุนมากกว่ากิจการเจ้าของคนเดียว
3. มั่นคงและเชื่อถือมากกว่าเจ้าของคนเดียว
4. การบริหารงานมีประสิทธิภาพ
5. การเสี่ยงภัยน้อยลง
ข้อเสีย
1. อาจมีข้อขัดแย้งระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนได้
2. อาจเกิดความล้าช้าในการดำเนินงาน
3. ผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดชอบ
4. อาจเกิดปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์ของหุ้นส่วน
5. อายุการดำเนินงานจำกัด ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย ล้มละลายห้างอาจต้องเลิกกิจการ
รูปแบบบริษัทจำกัด
บริษัทจำกัด (Limited Company) คือ กิจการที่มีบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จัดตั้งด้วยการแบ่งทุนเป็นหุ้น แต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่ากัน โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ (ที่มา: นักทะเบียนธุรกิจ ประกาศฉบับที่ 52/26 มิถุนายน 2551)
ลักษณะของบริษัทจำกัด
1. มีผู้ลงทุนอย่างน้อย 3 คน
2. แบ่งทุนออกเป็นหุ้นมีมูลค่าหุ้นละเท่า ๆ กัน
3. มูลค่าหุ้นไม่ต่ำกว่า 5 บาท ซึ่งชำระเงินค่าหุ้นครั้งแรกไม่น้อยกว่า 25% ของมูลค่าหุ้น
4. ความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นมีจำกัด (เฉพาะจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ)
5. ต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
หนังสือบริคณห์สนธิจะมีรายการดังนี้
1. ชื่อบริษัทอันคิดจะตั้งขึ้น ซึ่งต้องมีคำว่า “จำกัด” ไว้ท้ายชื่อ
2. ที่สำนักงานของบริษัทจะตั้งอยู่ ณ ที่ใด
3. วัตถุประสงค์ทั้งหลายของบริษัท
4. ถ้อยคำสำแดงว่าความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นจะมีจำกัด
5. จำนวนทุนเรือหุ้น ซึ่งบริษัทคิดจะจดทะเบียนแบ่งออกเป็นหุ้นมีมูลค่ากำหนดหุ้นละเท่าไร
6. ชื่อ สำนัก อาชีวะ และลายมือชื่อของบรรดาผู้เริ่มก่อการทั้งจำนวนหุ้นซึ่งต่างคนต่างเข้าชื่อซื้อไว้คนละเท่าใด
ในหนังสือบริคณห์สนธิจะทำเป็นต้นฉบับไว้ไม่น้อยกว่า 2 ฉบับ ให้ลงลายมือชื่อของผู้เริ่มก่อการและลายมือชื่อนั้นจะต้องมีพยานลงชื่อรับรองด้วย 2 คน ผู้เริ่มก่อการทุกคนต้องลงชื่อ ซื้อหุ้น ๆ หนึ่งเป็นอย่างน้อย
หุ้นและผู้ถือหุ้น
มูลค่าหุ้นหนึ่งของบริษัทจำกัดมิให้ต่ำกว่า 5บาท ซึ่งหุ้นบริษัทจะแบ่งแยกกันไม่ได้ ในกรณีที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปถือหุ้นเดียวร่วมกัน ให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นให้บริษัททำใบหุ้นซึ่งใบสำคัญหุ้นใบหนึ่งหรือหลายใบมอบให้เป็นคู่มือแก่ผู้ถือหุ้นทุกคน ในใบหุ้นทุกใบให้กรรมการลงลายมือชื่อ 1 คนเป็นอย่างน้อยและประทับตราบริษัท ใบหุ้นมีข้อความดังนี้
1. ชื่อบริษัท
2. เลขหมายหุ้นที่กล่าวถึงในใบหุ้น
3. มูลค่าหุ้นหนึ่งเป็นเงินเท่าใด
4. ถ้าเป็นหุ้นที่ยังไม่ได้ใช้เงิน ให้จดลงว่าได้ใช้เงินค่าหุ้นแล้วหุ้นละเท่าใด
5. ชื่อผู้ถือหุ้น หรือคำแถลงว่าได้ออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือ
การดำเนินการจัดตั้งบริษัทจำกัด
ในการจัดตั้งบริษัทจำกัดนั้น จะต้องดำเนินการตามลำดับขั้นตอน ดังนี้
1. ต้องมีผู้เริ่มก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปเข้าชื่อทำหนังสือบริคณห์สนธิขึ้น ซึ่งในปัจจุบันสามารถไปจดทะเบียนภายในวันเดียวเสร็จ
2. เมื่อได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องจัดให้หุ้นของบริษัทที่จะตั้งขึ้นนั้นมีผู้เข้าชื่อจองซื้อหุ้นจนครบ
3. ดำเนินการประชุมตั้งบริษัท โดยต้องส่งคำบอกกล่าวนัดประชุมให้ผู้จองทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันก่อนวันประชุม
4. เมื่อได้ประชุมตั้งบริษัท และที่ประชุมได้แต่งตั้งกรรมการบริษัทแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องมอบหมายกิจการให้กรรมการบริษัทไปดำเนินการต่อไป
5. กรรมการบริษัทเรียกให้ผู้เริ่มก่อการและผู้จองหุ้นชำระค่าหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้น (ทุนของบริษัทจะแบ่งเป็นกี่หุ้นก็ได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 5 บาท)
6. เมื่อได้รับเงินค่าหุ้นแล้ว สามารถไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้ภายในวันเดียว
หน้าที่ของบริษัทจำกัด
1. ต้องทำงบการเงินอย่างน้อยครั้งหนึ่งทุกรอบ 12 เดือน โดยมีผู้สอบบัญชีอย่างน้อย 1 คน ตรวจสอบ แล้วเสนอที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นอนุมัติงบการเงินภายใน 4 เดือน นับแต่วันปิดรอบปีบัญชี และยื่นงบการเงินต่อสำนักบริการข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันอนุมัติงบการเงิน รวมถึงบริษัทที่ยังมิได้ประกอบกิจการ จะต้องส่งงบการเงินด้วย มิฉะนั้นจะมีความผิดระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
2. จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นและให้นำส่งต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร หรือที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดแล้วแต่กรณีภายใน 14 วัน นับจากวันที่ประชุม มิฉะนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
3. จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญภายหลัง 6 เดือนนับแต่วันจดทะเบียน เป็นนิติบุคคล และจัดประชุมครั้งต่อไปอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุกระยะเวลา 12 เดือน
4. จัดทำใบหุ้นมอบให้ผู้ถือหุ้น มิฉะนั้นมีความผิดระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
5. จัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น มิฉะนั้นมีความผิดระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ข้อดีและข้อเสียของบริษัทจำกัด
ข้อดี
1. ผู้ถือหุ้นมีความรับผิดจำกัด
2. มีการกระจายความเสี่ยง
3. สามารถระดมทุนได้มาก
4. บุคลากรมีความรู้ความสามารถ
5. หุ้นของกิจการสามารถเปลี่ยนมือได้
6. การดำเนินกิจการมีความมั่นคงและต่อเนื่อง
ข้อเสีย
1. มีกฎหมายควบคุมที่เคร่งครัด
2. การบริหารงานขาดความคล่องตัว
3. เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูง
4. การบริหารงานขาดประสิทธิภาพ
5. เจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นแต่ละคนไม่มีโอกาสบริหารงานด้วยตนเองเหมือนธุรกิจรูปแบบอื่น
เมื่อคุณได้ทราบรายละเอียดรูปแบบกิจการประเภทเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัดแล้ว คุณก็ลองคิดวิเคราะห์ดูนะคะว่ารูปแบบกิจการไหนที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ แต่ถ้าคุณอยากสร้างธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กและมีแนวโน้มที่จะขยายกิจการเพื่อเติบโตในอนาคตและมีการแตกไลน์ธุรกิจอื่นเพิ่มนอกเหนือจากรายได้ค่าบริการห้องพัก เช่น มีธุรกิจร้านอาหาร สปา ร้านสะดวกซื้อ ค่าเช่าสถานที่ ซึ่งจะทำให้รูปแบบธุรกิจมันซับซ้อนมากขึ้น ฉันก็ขอแนะนำว่าให้คุณเลือกรูปแบบธุรกิจเป็นแบบบริษัทจำกัดค่ะ ต่อไปนี้จะขอยกเอาข้อดีบางประการเพื่อสนับสนุนเหตุผลในการจัดตั้งบริษัทจำกัดมาแบ่งปัน ดังนี้ค่ะ
- บริษัทจำกัด ผู้ถือหุ้นสามารถนำทรัพย์สินอื่นมาจ่ายเป็นค่าหุ้นได้ เช่น อุปกรณ์สำนักงาน คอมพิวเตอร์ แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา แผนธุรกิจ ความลับทางการค้า เป็นต้น ซึ่งคุณสามารถรวบรวมคนที่มีความฝันเหมือนกันมาลงขันทำธุรกิจร่วมกันได้ โดยที่ผู้ร่วมหุ้นบางคนอาจไม่มีเงินสดแต่มีทรัพย์สินอื่นที่สามารถจ่ายเป็นค่าหุ้นแทนได้
2. บริษัทจำกัด มีความสะดวกในการควบคุมอำนาจบริหารของกิจการโดยอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ส่วน ห้างหุ้นส่วนจำกัด มีข้อจำกัด เพราะหากต้องการเปลี่ยนแปลงรายการสำคัญที่ได้จดทะเบียนไว้ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นด้วยกันทุกคน เช่น หากคุณถือหุ้นมากกว่า 75% ของทุนจดทะเบียนบริษัท (หรือตามจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ) คุณก็จะกลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของบริษัท สามารถชี้นิ้วสั่งการเรื่องสำคัญต่าง ๆ ในบริษัทได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิ่มทุน ลดทุน การแต่งตั้งหรือปลดกรรมการบริษัท การควบรวมบริษัท การเลิกบริษัท และแปรสภาพบริษัทเป็นบริษัทมหาชน แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด หากต้องการจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสำคัญใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นทุกคนเท่านั้น
3. ในกรณีที่ บริษัทจำกัด ต้องการเพิ่มทุนแต่ไม่อยากเสียอำนาจในการบริหารบริษัทก็สามารถออกหุ้นบุริมสิทธิได้ (หุ้นบุริมสิทธิ เป็นหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลแต่ไม่มีสิทธิออกคะแนนเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น) แต่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่สามารถออกหุ้นบุริมสิทธิได้
4. หากคุณถือหุ้น บริษัทจำกัด เกินกว่า 20% คุณมีสิทธิตรวจสอบกิจการของบริษัทได้ แต่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หากคุณเป็นหุ้นส่วนเล็ก ๆ ประเภทจำกัดความรับผิดคุณไม่มีสิทธิแตะต้องหรือตรวจสอบกิจการของบริษัท
5. หุ้นของ บริษัทจำกัด สามารถขายให้ใคร ๆ ในราคาที่พอใจได้ทันที แต่หุ้นของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนด้วยกันทุกคนเสียก่อนจึงจะขายหุ้นได้ ยกเว้นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจึงสามารถขายหุ้นได้
6. บริษัทจำกัด มีกฎหมายกำหนดกฎกติกาการเข้าหุ้นกัน การแบ่งผลประโยชน์ การปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร พนักงาน เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ชัดเจนมากกว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด
7. รูปแบบ บริษัทจำกัด ได้รับความน่าเชื่อถือจากสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อและระดมทุนมากกว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด
8. บริษัทจำกัด สามารถออกหุ้นขายเกินกว่าราคาพาร์ได้ (พาร์ (Par) = มูลค่าหุ้นตามที่จดทะเบียนไว้) แต่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่สามารถทำได้ หมายความว่า เมื่อบริษัทประกอบกิจการมาได้ระยะหนึ่งและบริษัทมีรายได้เกิดเป็นกำไรทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น หากบริษัทต้องการเงินลงทุนเพิ่ม แต่ผู้ถือหุ้นเดิมไม่สามารถซื้อหุ้นได้อีกแล้ว เมื่อจำเป็นต้องขายหุ้นให้แก่บุคคลภายนอกคุณก็ต้องการขายในราคาตามมูลค่ากิจการในปัจจุบันที่แท้จริง ไม่ใช่ขายตามราคาพาร์ของบริษัท เช่น ราคาพาร์ของบริษัทคุณอยู่ที่ 10 บาท/หุ้น คุณอาจจะออกขายให้คนภายนอกในราคา 100 บาท/หุ้น
9. บริษัทจำกัด สามารถแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเพื่อนำหุ้นจดทะเบียนไปจำหน่ายในตลาดหลักทรัยพ์ได้ แต่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทำไม่ได้
10. บริษัทจำกัด กรรมการผู้จัดการไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการ แต่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดชอบในภาระหนี้ของห้างฯทั้งหมดเต็มจำนวน
11. ถ้าหาก บริษัทจำกัด ถูกฟ้องล้มละลาย กรรมการบริษัทรอดตัว แต่ถ้าหาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด ถูกฟ้องล้มละลาย หุ้นส่วนผู้จัดการต้องถูกฟ้องร้องล้มลายตามห้างฯ ไปด้วย
ข้อมูลที่นำมาแบ่งปันนี้คุณคงพอจะตัดสินใจได้แล้วนะคะ ว่าอยากจะสร้างธุรกิจโรงแรม–รีสอร์ทให้อยู่ในรูปแบบธุรกิจใดถึงจะเหมาะสมกับลักษณะกิจการของคุณ แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกรูปแบบไหน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือคุณได้ตัดสินใจลงมือทำธุรกิจไปแล้ว ฉันจึงขอให้คุณประสบความสำเร็จในเส้นทางธุรกิจสายนี้ค่ะ
“เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ คือพลังที่ยิ่งใหญ่”
ขอให้ทุกท่านจงสร้างธุรกิจโรงแรมที่ดี มีคุณภาพเพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยของเรา
หากคุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ และบอกต่อด้วยนะคะ
มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับหลักสูตร เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้
คอร์สอบรมที่ช่วยให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ภายใน 2 วัน
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ
