ธุรกิจโรงแรมนั้นมีมากมายหลายแห่งแต่ทำไมลูกค้าถึงเลือกมาใช้บริการที่โรงแรมของคุณ นั่นอาจเป็นเพราะ “ชื่อโรงแรม” ก็เป็นได้ค่ะ และชื่อโรงแรมสั้น ๆ เพียงไม่กี่คำนี้มันอาจทำให้คนจดจำอยู่ในใจไปตลอดกาล และนี่คือเทคนิคในการตั้งชื่อโรงแรมให้โดนใจลูกค้าที่เจ้าของโรงแรมต้องรู้ค่ะ
แสดงเนื้อหาเพิ่ม คลิกที่นี่
รับชมบน Youtube ช่อง A-LISA แบ่งปันความรู้
“ชื่อ” เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นคำต่าง ๆ เพื่อใช้แทนคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ เซอร์เจมส์ จอร์จ เฟรเซอร์ นักมนุษยวิทยาชาวอังกฤษ เคยกล่าวไว้ว่า อารยชนมักจะตั้งชื่อคน สัตว์ สิ่งของ ด้วยความประสงค์ที่ว่า ต้องการให้มันแทนสิ่งนั้นจริง ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่าชื่อนั้นเป็นตัวตนที่แท้จริงของวัตถุที่บอกเล่าเอกลักษณ์ต่าง ๆ ไว้ เช่น ผม ขน เล็บ ฯลฯ (ข้อมูลจาก wikipedia) ในบางวัฒนธรรมนั้นชื่อจริงอาจเป็นสิ่งต้องห้าม หากผู้อื่นได้ล่วงรู้ถึงชื่อจริงชีวิตก็อาจตกอยู่ในอันตรายได้เพราะชื่อจริงอาจถูกนำไปทำคุณไสยหรือพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ คนโบราณจึงไม่นิยมบอกชื่อจริงกันจนในกาลต่อมาความหวาดระแวงนี้ได้กลายมาเป็นมารยาทหนึ่งทางสังคมที่ต้องเอ่ยนามของตนเองก่อนค่อยถามชื่อผู้อื่น
สำหรับความเชื่อในเรื่อง “ชื่อ” ของคนไทยนั้นไม่เพียงเป็นแค่สิ่งสมมติที่ใช้เรียกขานแทนตัวเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงบทบาทและสภาพของเจ้าของชื่อด้วย โดยชื่อนั้นอาจจะส่งผลถึงความเป็นสิริมงคลหรือกาลกิณีแก่ผู้เป็นเจ้าของได้ จึงมีความเชื่อว่าการเปลี่ยนชื่อใหม่ก็เป็นกลวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เจ้าของชื่อหายเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเคราะห์ร้ายต่าง ๆ เพราะเชื่อว่าเด็กแรกเกิดนั้นเกิดขึ้นมาจากผีปั้น เมื่อคลอดออกมาผีก็ยังจะคอยมาเอาชีวิตกลับคืนไป ดังนั้นการเปลี่ยนชื่อจึงเป็นการหลอกให้ผีเข้าใจว่าเป็นคนละคนกัน บางครั้งก็ตั้งชื่อเป็นชื่อสัตว์ขึ้นมา เช่น ชื่อเป็ด ไก่ หมู กบ เขียด ด้วง ฯลฯ เพื่อหลอกผีว่าไม่ใช่คนแต่เป็นสัตว์ชนิดนั้น และนี่ก็คงจะเป็นที่มาของชื่อเล่นนั่นเองค่ะ ความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนชื่อยังได้ถ่ายทอดผ่านวรรณคดีพื้นบ้านที่นำมาสร้างเป็นละครจนโด่งดังอย่างเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” นางเอกของเรื่องคือนางพิมพิลาไล เมื่อครั้งขุนแผนไปรบก็เจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ ขรัวตาจูที่วัดป่าเลไลย์จึงได้ตรวจดูดวงชะตาและแนะนำให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น นางวันทอง และต่อมาจึงได้หายป่วย
ชื่อของกิจการก็มีกลไกการทำงานไม่ต่างจากชื่อคนค่ะ เพราะชื่อของกิจการหรือธุรกิจโรงแรมของคุณนั้นต้องบ่งบอกอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนที่ชัดเจน ต้องสามารถอ่าน จดจำ สื่อถึงธรรมชาติของกิจการ คุณสมบัติเฉพาะตัว จนต่อยอดไปเป็นเครื่องหมายการค้าหรือโลโก้เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้
ในบทความนี้ฉันจึงมี เทคนิคการตั้งชื่อโรงแรมให้โดนใจลูกค้า และค้นหาได้ง่ายบนโลกออนไลน์ มาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านค่ะ
- เริ่มต้นตั้งชื่อโรงแรม ต้องทำอย่างไรบ้าง?
การตั้งชื่อโรงแรมนั้นคุณควรคิดไว้ตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินกิจการเพื่อให้สอดคล้องกับธีมโรงแรมเพื่อสื่อสารไปถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน และถ้าคุณเป็นคนเชื่อเรื่องโชคลางโหราศาสตร์ การตั้งชื่อไว้แต่เนิ่น ๆ คุณก็ยังพอมีเวลาเอาชื่อไปให้ซินแสหรือหลวงตาตรวจดูตัวอักษรที่ใช้ตั้งชื่อโรงแรมนั้นว่าเป็นโชคลาภหรือกาลกิณีต่อธุรกิจโรงแรมหรือไม่
- ไม่ควรตั้งชื่อโรงแรมด้วย “คำเล็ก” หรือ “คำใหญ่” เกินไป
คำเล็ก คือคำที่กินความหมายแคบ ซึ่งอาจจะไปกำหนดอนาคตตัวเองในภายหลัง เช่น ชื่อที่บ่งบอกว่าเป็นที่พักอย่างเดียวแต่ต่อมาภายหลังได้ขยายกิจการเพิ่ม มี ร้านอาหาร สปา ร้านจำหน่ายสินค้า ร้านขายของที่ระลึก เมื่อคุณตั้งชื่อโรงแรมที่สื่อสารว่าเป็นเพียงที่พักอย่างเดียวจะทำให้คุณสูญเสียโอกาสที่จะใช้ชื่อนั้นสื่อสารไปถึงธุรกิจอื่นที่พ่วงเข้ามาในโรงแรม
คำใหญ่ คือคำที่บ่งบอกลักษณะของสิ่งของหรือสถานที่จนเลอเลิศเกินความเป็นจริง เป็นคำที่บอกความหมาย กว้างแบบไม่จำกัดอาณาบริเวณทำให้รู้สึกยากลำบากในการครอบครองหรือเข้าถึง บางทีตั้งชื่อไว้อย่างหรูเลิศอลังการแต่ไม่สามารถสร้างหรือเนรมิตขึ้นมาได้จริง ๆ เมื่อลูกค้าได้ยินชื่อก็รู้สึกคาดหวังแต่พอเมื่อได้เข้าไปใช้บริการแล้วก็รู้สึกผิดหวังเพราะโรงแรมสร้างได้ไม่ยิ่งใหญ่อลังการเหมือนชื่อที่ตั้งไว้ เช่น สมมติตั้งชื่อว่า โรงแรมบางกอกเมืองฟ้า ความหมายของชื่อทำให้ลูกค้านึกถึงความหรูหราของสถานที่ ความอลังการหรูเริดของเครื่องประดับตกแต่ง ได้รับการบริการอย่างคนมีระดับ ดังนั้นโรงแรมที่เลือกใช้ชื่อนี้จึงต้องออกแบบตกแต่งสถานที่เพื่อให้เข้าถึงความหมายของชื่อโรงแรมให้ได้ ซึ่งหากโรงแรมที่เน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นคนมีฐานะดี จัดอยู่ในชนชั้นสูงก็สามารถลงทุนในเรื่องของสถานที่ได้เต็มที่เพราะสามารถเรียกเก็บค่าห้องพักได้ราคาสูง แต่หากเป็นโรงแรมที่เน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นคนชนชั้นกลางทั่วไปไม่สามารถเรียกเก็บค่าห้องในราคาสูงได้ ก็คงจะไม่คุ้มค่ากับการทุ่มเทสร้างสถานที่และไม่เหมาะสมกับการนำชื่อนี้มาใช้เพราะเป็นคำใหญ่เกินตัว
- ควรตั้งชื่อให้กระชับและมีเอกลักษณ์
ชื่อที่เป็นเอกลักษณ์จะช่วยให้ที่พักของคุณโดดเด่นและเป็นที่น่าจดจำ และเมื่อลูกค้าเลือกเข้าไปใช้บริการที่โรงแรมของคุณยังได้เจอกับการออกแบบภายในที่ดึงดูดก็จะยิ่งสร้างความประทับใจ ขอยกตัวอย่างโรงแรมของฉันเอง ตั้งชื่อว่า โรงแรม Le bar tarry ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย การที่ฉันเลือกชื่อนี้เพราะการออกแบบของตัวอาคารเป็นสไตล์โพรว๊องค์ของฝรั่งเศส จึงอยากให้ชื่อโรงแรมสื่อถึงกลิ่นอายความเป็นฝรั่งเศส จึงมี Article ว่า Le ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสนำหน้าแทนคำว่า The ฉันก็ไม่รู้ว่าถูกหลักไวยากรณ์ไหมเพราะไม่มีความรู้ภาษาฝรั่งเศส แต่ชื่อนี้ก็ทำให้ดูแตกต่างและมีเอกลัษณ์เฉพาะตัวเพราะโรงแรมในละแวกนี้ใช้ชื่อแบบไทยเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่นโรงแรมภูตะวันชมดาวที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ส่วน Bar นั้นสื่อความหมายว่าโรงแรมมีบริการร้านอาหารด้วย และ Tarry อ่านว่าทาร์รี่ แปลว่า พักแรม และยังพ้องเสียงกับชื่ออำเภอท่าลี่ทำให้จดจำได้ง่าย ซึ่งลูกค้าเป้าหมายหลักของโรงแรมก็คือคนที่เดินทางผ่านมายังอำเภอท่าลี่และต้องการหาที่พักแรม ถ้าหากลูกค้าเป็นชาวต่างชาติจะเข้าใจความหมายทันทีและอ่านง่ายกว่าชื่อไทยที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ
- ตั้งชื่อโรงแรมเพื่อบอกตำแหน่งสถานที่ตั้งหรือขนาดที่พัก
เมื่อมีลูกค้าเดินทางมายังทำเลที่ตั้งของโรงแรมคุณและมองหาสถานที่พักในย่านนั้น พวกเขาอาจจะเริ่มจากการค้นหาตามชื่อของพื้นที่ก่อนโดยระบุตำแหน่งเป็นชื่อของจังหวัดหรืออำเภอ ถ้าโรงแรมของคุณตั้งชื่อโดยพ่วงชื่อสถานที่ตั้งไปด้วยก็จะทำให้มีโอกาสในการค้นหาเจอได้ง่ายกว่าโรงแรมอื่น เช่น ในอำเภอท่าลี่มีที่พักที่ชื่อว่า ท่าลี่รีสอร์ท เมื่อลูกค้าคีย์คำค้นใน google ว่า “ที่พักอำเภอท่าลี่” ท่าลี่รีสอร์ท ก็จะพ่วงติดมาในคำค้นหาหน้าแรกด้วยทุกครั้ง
การตั้งชื่อโรงแรมเพื่อบอกตำแหน่งสถานที่ตั้ง ยังระบุถึงประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากการเข้าพักทำให้ช่วยในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เช่น โรงแรมบุรีริมธาร ทำให้ลูกค้าฟังแล้วเห็นภาพว่าเมื่อเข้าพักโรงแรมแห่งนี้จะได้เห็นวิวจากแม่น้ำในบริเวณโรงแรม หรือโรงแรมหลงรักเขา (ถ้าสถานที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงหรือภาคเหนือ) ลูกค้าได้ฟังแล้วก็จะนึกถึงทัศนียภาพภูเขาที่สวยงามจนต้องหลงรัก เป็นต้นค่ะ
- ตั้งชื่อโรงแรมเพื่อต่อยอดแบรนด์ธุรกิจ
นอกจากทำธุรกิจโรงแรมที่พักแล้วคุณอาจจะสร้างสินค้าเฉพาะของโรงแรมเพื่อขายให้แก่ลูกค้า ซึ่งการสร้างสินค้าที่เป็นแบรนด์ของโรงแรมนี้นอกจากเป็นช่องทางเพิ่มรายได้แล้วยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับโรงแรมของคุณด้วยค่ะ เช่น สินค้าของที่ระลึก สินค้าชุดเครื่องนอนโรงแรม เป็นต้น
- ไม่ควรใช้อิโมจิและสัญลักษณ์
ถ้าคุณอยากแสดงความเป็นมืออาชีพก็ให้หลีกเลี่ยงการใช้อิโมจิและสัญลักษณ์ต่าง ๆ อยู่ในชื่อของโรงแรมค่ะ ถึงแม้ว่ามันจะดูน่ารักสักเพียงไหนก็ตาม สัญลักษณ์พวกนี้อาจทำให้ดูสะดุดตาแต่ก็อาจทำให้บางคนไม่เลือกพักที่โรงแรมของคุณก็ได้ค่ะ เพราะสัญลักษณ์บางตัวอาจไม่ถูกโฉลกกับบางคน หรืออาจเป็นสัญลักษณ์ที่ไปเหมือนหรือคล้ายกับข้อห้ามทางศาสนา การเมือง หรือบางวัฒนธรรมโดยที่เราไม่รู้ค่ะ
- ยึดตามความเป็นจริง
ชื่อโรงแรมไม่ควรใช้ภาษาที่เป็นการโปรโมทหรือโฆษณาเกินจริง ถึงแม้ว่ามันอาจจะช่วยดึงดูดดูดค้าได้จริงแต่มันก็จะทำได้เพียงแค่ครั้งแรกเท่านั้นค่ะ การให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นกลางจะสร้างความประทับใจและความไว้เนื้อเชื่อใจจากลูกค้าในระยะยาวได้ดีกว่าค่ะ
- ตั้งชื่อโดยคำนึงถึงการตลาดออนไลน์
เพราะการตลาดในโลกยุคใหม่ต้องพึ่งพาอาศัยช่องทางออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น คุณจึงควรมีเว็บไซต์และสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เป็นของโรงแรมด้วย และการตั้งชื่อคุณควรต้องคิดเผื่อการเขียนจากภาษาไทยแปลงเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ ด้วย เพื่อป้องกันความหมายไม่ให้เพี้ยนไปจากความหมายเดิม เช่น โรงแรมพรคุณยาย เป็นชื่อที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการได้รับมรดกที่ดินมาจากคุณยาย แต่เมื่อต้องแปลงเป็นภาษาอังกฤษและไปจดโดเมนชื่อเว็บไซต์จึงเขียนว่า pornkhunyay.com คำว่า porn ในภาษาอังกฤก็ไปตรงกับชื่อโดเมนเว็บโป๊ชื่อดังของต่างประเทศ เมื่อลูกค้าต่างชาติเห็นแล้วอาจทำให้ตีความหมายเพี้ยนไปได้ค่ะ
ชื่อของโรงแรมนั้นมักจะมาพร้อมกับความคาดหวังลูกค้า มันจึงเป็นเรื่องท้าทายเอามาก ๆ เพราะถ้าหากคุณตั้งชื่อได้ดีชื่อโรงแรมนี่แหละค่ะจะเป็นปัจจัยแรกในการเรียกแขก และถ้าชื่อโรงแรมไม่ดีก็เป็นปัจจัยแรกในการไล่แขกอีกเช่นกัน แต่นอกเหนือจากการมีชื่อโรงแรมที่ดีแล้ว การบริการลูกค้า การรักษาคุณภาพและมาตรฐานก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจโรงแรมของคุณได้รับความนิยมและครองใจลูกค้าได้ในระยะยาว เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง “ชื่อโรงแรม” ของคุณก็จะกลาย “สัญลักษณ์” ที่มีคุณค่าและน่าจดจำอยู่ในใจของลูกค้า
“เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ คือพลังที่ยิ่งใหญ่”
ขอให้ทุกท่านจงสร้างธุรกิจโรงแรมที่ดี มีคุณภาพเพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยของเรา
หากคุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ และบอกต่อด้วยนะคะ
มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับหลักสูตร เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้
คอร์สอบรมที่ช่วยให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ภายใน 2 วัน
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ