
เรื่องสำคัญที่ต้องรู้สำหรับคนทำธุรกิจโรงแรม คือการแต่งตั้งผู้จัดการโรงแรมตามมพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมต้องจัดให้มีผู้จัดการหนึ่งคนเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโรงแรม
มาตรา 30 กำหนดไว้ว่า ให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมให้มีผู้จัดการคนหนึ่งเป็นผู้มีหน้าที่จัดการโรงแรม ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมและผู้จัดการในโรงแรมหนึ่ง ๆ จะเป็นบุคคลคนเดียวกันก็ได้โดยผู้จัดการโรงแรมต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 33 ที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมและได้แจ้งให้นายทะเบียนทราบตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด
คลิกอ่านต่อ ที่นี่
อ่านภาษากฎหมายก็เริ่มเวียนหัวตามลายกันอีกแล้วใช่ไหมค่ะ ความจริงฉันตั้งใจจะเขียนแบ่งปันประสบการณ์การไปขออนุญาตเป็นผู้จัดการโรงแรมให้อ่านมาหลายวันแล้วนะคะ แต่เพราะต้องเดินทางบ่อยและติดภาระกิจอีกหลายอย่างจึงไม่มีโอกาสได้เขียนเสียที วันนี้หลังจากเคลียร์ภาระกิจเสร็จแล้วจึงได้มีเวลามาเขียนบทความเพื่อแบ่งปันให้กับท่านที่สนใจได้อ่านกันค่ะ
เรื่องการแต่งตั้งผู้จัดการโรงแรมนี้ก็ได้เคยเขียนเป็นบทความไว้ให้อ่านกันเมื่อนานมาแล้ว และได้รวบรวมเนื้อหาไว้ใน หนังสือ เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อยากแนะนำให้คนที่มีความอยากเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็กได้อ่านกันนะคะ เพราะเนื้อหาของหนังสือคัดสรรมาอย่างดีสำหรับผู้เริ่มต้นจะทำธุรกิจโรงแรมค่ะ
เข้าเรื่องกันเลยดีกว่านะคะ จากบทความที่เขียนไว้ให้อ่านก่อนหน้า คือบทความเรื่อง (ย้ำเตือนเรื่อง เอกสาร ร.ร.๓ และ ร.ร.๔ ที่คนทำธุรกิจโรงแรมห้ามพลาดเด็ดขาด!!! คลิ๊กอ่าน…) ที่ได้แบ่งปันเรื่องราวตอนไปพบกับท่านปลัดอำเภอเพื่อดำเนินการต่อเรื่องขอเป็นผู้จัดการโรงแรม

หลังจากที่ได้ยื่นเอกสารเพื่อขอเป็นผู้จัดการโรงแรมไว้ที่ท่านปลัดอำเภอแล้ว หลังจากนั้นก็ได้รับการติดต่อว่าฉันต้องเข้าไปพบกับท่านปลัดอำเภออีกครั้งเพื่อเซ็นต์หนังสือรับรองตัวเองว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม 33 “ ซึ่งกำหนดไว้ว่า
มาตรา 33 ผู้จัดการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(2) เป็นผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือมีประสบการณ์ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด หรือมีหนังสือรับรองว่าได้ผ่านการฝึกอบรมวิชาการบริหารจัดการโรงแรม ตามหลักสูตรที่คณะกรรมการรับรอง
(3) ไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นโรคติดต่อที่คณะกรรมการกำหนด
(4) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(5) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(6) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดในความความผิดเกี่ยวกับเพศตาม ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
(7) ไม่เคยถูกเพิกถอนใบรับแจ้งเป็นผู้จัดการ หรือเคยถูกเพิกถอนใบรับแจ้เป็นผู้จัดการโดยเหตุอื่นซึ่งใช่เหตุตาม (6) แต่เวลาได้ล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี
หลังจากเซ็นต์หนังสือรับรองตัวเองเสร็จแล้ว ท่านปลัดอำเภอก็ได้ออกหนังสือส่งตัว 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นหนังสือส่งถึงสำนักงานบังคับคดี เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติว่าเราไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา16 (3) และอีกฉบับเป็นหนังสือส่งถึง สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน เพื่อตรวจสอบลายนิ้วมือว่าเราไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และไม่เคยมีประวัติต้องโทษเป็นผู้กระทำความผิดในเรื่องเพศ คดีเกี่ยวกับยาเสพติด การค้าผู้หญิงและเด็กหรือการค้าประเวณี ซึ่งหลังจากได้รับจดหมายส่งตัวจากท่านปลัดฯแล้ว ฉันก็นำหนังสือส่งตัวพร้อมกับแนบสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านไปยื่นที่สำนักงานบังคับคดีและสำนักงานพิสูจน์หลักฐานเพื่อดำเนินการต่อค่ะ
ในส่วนการดำเนินการที่สำนักงานบังคับคดีก็ไม่มีอะไรยาก แค่แจ้งความจำนงและยื่นหนังสือกับเจ้าหน้าที่ ทางเจ้าหน้าที่จะนัดมารับผลตรวจสอบภายในวันหรือถ้าไม่สะดวกไปรับเองก็ให้เจ้าหน้าที่จัดส่งไปให้ทางที่ว่าการอำเภอแทนก็ได้ค่ะ ในส่วนของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานเพื่อตรวจสอบประวัติและพิมพ์ลายนิ้วมือก็จะมีขั้นตอนมากหน่อย แต่พี่ ๆ ตำรวจทุกท่านก็ใจดีช่วยอำนวยความสะดวกให้ค่ะ ส่วนผลตรวจลายนิ้วมือนั้นทางสำนักงานพิสูจน์หลักฐานจะส่งเรื่องไปให้ส่วนงานที่ออกใบรับแจ้งเป็นผู้จัดการโรงแรมให้กับเราเองค่ะ
ระยะเวลาในการขอเป็นผู้จัดการโรงแรมจนเสร็จสิ้นทุกอย่างใช้เวลาประมาณ 60 วัน นะคะ
อ่านบทความเพิ่มเติม หลักการบริหารจัดการโรงแรม|คุณสมบัติและหน้าที่ของผู้จัดการโรงแรม (คลิ๊กที่นี่..)
ตัวอย่าง แบบแจ้งการเป็นผู้จัดการโรงแรม

ตัวอย่าง ใบรับแจ้งการเป็นผู้จัดการโรงแรม

ตัวอย่าง หนังสือส่งสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน

ตัวอย่าง หนังสือส่งตัวสำนักงานบังคับคดี

การแต่งตั้งผู้จัดการแทน
- ในกรณีที่ผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เกิน 7 วัน ให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมหรือบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามามาตรา 33 ที่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมหรือผู้จัดการมอบหมายเป็นผู้จัดการแทนได้ไม่เกิน 90 วัน และให้บุคคลคลดังกล่าวแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบภายใน 3 วัน นับแต่วันที่เข้าดำเนินการแทน
- ในกรณีที่ผู้จัดการพ้นหน้าที่ ให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมแต่งตั้งบุคคลหนึ่งเป็นผู้จัดการแทนและให้ผู้จัดการที่ได้รับแต่งตั้งนั้นแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ผู้จัดการพ้นจากหน้าที่ยกเว้นกรณีที่ผู้นั้นเคยแจ้งการเป็นผู้จัดการไว้แล้วให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการให้นายทะเบียนทราบ
*** กรณีที่นายทะเบียนไม่อนุญาต ให้แจ้งผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทราบพร้อมด้วยเหตุผลและผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจโรงแรมภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง โดยคณะกรรมการฯ ต้องพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ให้เป็นที่สุด
หลังจากที่ท่านเจ้าของธุรกิจโรงแรมดำเนินการขอใบอนุญาตโรงแรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็อย่าลืมไปแจ้งเป็นผู้จัดการโรงแรมด้วยนะคะ เพราะเมื่อทางเจ้าหน้าที่รัฐเข้าตรวจสอบโรงแรมจะตรวจสอบเอกสารหลัก ๆ ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ใบแจ้งการเป็นผู้จัดการ บัตรทะเบียนผู้พัก (ร.ร.๓) และทะเบียนผู้พัก (ร.ร.๔) ถ้าเราประกอบธุรกิจโรงแรมและดำเนินการในส่วนของเอกสารต่าง ๆ จนครบตามที่แจ้งมาก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่อีกแล้วค่ะ
ตัวอย่างใบรับแจ้งเป็นผู้จัดการโรงแรม

“คุณสามารถเปลี่ยนตัวเองจากคนธรรมดาให้กลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ แค่เพียงมีความรู้ มีแรงบันดาลใจ และมีความสุข ฉันอยู่ที่นี่เพื่อจะแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ให้กับคุณค่ะ”
มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับหลักสูตร เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้
คอร์สอบรมที่ช่วยให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ภายใน 2 วัน
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ