
ประมาณการกระแสดเงินสดคืออะไร? และเกี่ยวข้องอย่างไรกับการทำธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก?
หลายท่านที่ไม่เคยเรียนบริหารธุรกิจ ไม่ได้เป็นนักบัญชีหรือทำงานด้านการเงินมาก่อน เมื่ออ่านดูแล้วคงจะปวดหัวน่าดูเลยใช่ไหมค่ะ ถ้าอย่างนั้นเรามาเรียนรู้เรื่องประมาณการกระแสเงินสดแบบเข้าใจง่ายไปด้วยกันนะคะ เพื่อเตรียมตัวคุณเองให้พร้อมที่จะเป็นนักธุรกิจแบบมืออาชีพและสร้างธุรกิจโรงแรมจนประสบความสำเร็จค่ะ
คลิกอ่านต่อ ที่นี่
ธุรกิจโรงแรมจัดเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องจัดทำการวิเคราะห์โครงการก่อนตัดสินใจลงทุนเหมือนกันกับโครงการลงทุนประเภทอื่น ๆ จะต่างกันก็เพียงแต่ข้อมูลแหล่งที่มาของกระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่ายเท่านั้นค่ะ
มีคำถามว่า หากคุณไม่ได้มีความรู้ทางด้านบัญชีมาก่อน ไม่เคยรู้จักงบดุลหรืองบกำไรขาดทุนของกิจการว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วคุณจะสามารถสร้างประมาณการกระแสเงินสด จะสามารถวิเคราะห์โครงการและตัดสินใจลงทุนในโครงการได้หรือไม่ ก็ขอตอบคำถามนี้เลยค่ะว่า “ได้” เพราะการวิเคราะห์โครงการลงทุนในธุรกิจโรงแรมนั้น แค่เพียงคุณต้องรู้ว่าคุณต้องจ่ายค่าใช้จ่ายและลงทุนในรายการอะไรบ้างเพื่อให้เกิดรายรับเข้ามา
การลงทุนในโครงการต่าง ๆ นั้นจะต้องมีการใส่เงินลงทุนเข้าไป และเงินลงทุนก็มาจาก 2 ส่วน คือส่วนของเจ้าของ(เงินกู) และส่วนของหนี้สิ้น(เงินกู้) ซึ่งเงินลงทุนที่เราใส่เข้าไปในประมาณการกระแสเงินสดนั้นก็จะไปปรากฎในรายการต้นทุนโครงการ (Cost ; C) และในขณะเดียวกันเมื่อนำเงินไปลงทุนแล้วโครงการก็จะเกิดประโยชน์หรือมีรายรับของโครงการ (Benefit ; B) ซึ่งหากนำข้อมูลของ C มาเปรียบเทียบกับ B แล้ว พบว่าตัวเลขทางด้าน B มากกว่า ก็จะเกิดการตัดสินใจลงทุนในโครงการค่ะ
เพื่อให้เข้าใจวิธีการจัดทำประมาณการกระแสเงินสดให้ง่ายขึ้น ในบทความนี้เรามาจึงต้องมาเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการจัดทำประมาณการกระแสเงินสดตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ
ขั้นที่ 1 การกำหนดสมมติฐานด้านกระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่ายของโครงการ
เริ่มต้นขั้นตอนนี้คุณต้องตั้งสมมติฐานว่า โครงการโรงแรมของคุณนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะขายห้องพักได้กี่ห้องต่อเดือนและคิดเป็นยอดขายห้องพักจำนวนเท่าไรต่อเดือน และยอดขายที่เกิดขึ้นนั้นมีเครดิตทางการค้าหรือไม่ เช่น ยอดขายที่ลูกค้าจองผ่านช่องทาง OTA (OTA หมายถึงเว็บไซต์จองห้องพัก เช่น agoda booking.com เป็นต้น โดยเว็บไซต์เหล่านี้จะโอนเงินค่าห้องพักให้กับคู่ค้าเป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์หลังจากวันที่ลูกค้า Check out ค่ะ) หรือกลุ่มลูกค้าหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน บริษัททัวร์ ที่มีเครดิตทางการค้า 30 วัน เป็นต้นค่ะ
คุณจะต้องประมาณการยอดขายและกระแสเงินสดรับ (Benefit ; B) ตลอดระยะเวลาที่คิดจะทำโครงการ อย่างเช่น คุณคิดจะทำโครงการโรงแรมนี้ 10 ปี คุณก็ต้องคาดการณ์ยอดขายและประมาณการกระแสดเงินสดรับ(Benefit ; B) ทุกเดือนตลอดระยะเวลา 10 ปีค่ะ
ส่วนด้านกระแสเงินสดจ่าย (Cost ; C) ก็ใช้หลักการเดียวกันค่ะ ซึ่งกระแสเงินสดจ่าย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- กระแสเงินสดจ่ายที่จ่ายไปในรายการของสินทรัพย์ถาวร ได้แก่ ค่าซื้อที่ดินก่อสร้างอาคารโรงแรม ค่าตกแต่งสถานที่ รถยนต์ เป็นต้นค่ะ รายจ่ายเหล่านี้เป็นรายจ่ายคงที่ไม่แปรผันตามยอดขายหรือกระแสเงินสด
2. กระแสเงินสดจ่ายที่จ่ายไปในรายการของสินทรัพย์หมุนเวียน ได้แก่ การจ่ายเงินสดเพื่อซื้อวัตถุดิบ การจ่ายเงินสดเพื่อซื้อสินค้าสำเร็จรูปมาขาย ซึ่งรายจ่ายเหล่านี้จะแปรผันตามยอดขายของกิจการ เช่น ค่าวัตถุดิบคิดเป็น 50% ของยอดขาย เป็นต้น
3. กระแสเงินสดจ่ายที่จ่ายไปในรายการของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เช่น ค่าแรงงาน ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ประปา ค่าคอมมิชชั่น ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล ค่าใช้จ่ายประเภทนี้ถือเป็นการจ่ายเพื่อให้กระบวนการผลิตสินค้าแล้วเสร็จและสามารถนำสินค้าไปถึงมือลูกค้าได้ (ในกรณีของโครงการโรงแรม สินค้า หมายถึง ห้องพัก ร้านอาหาร และร้านจำหน่ายของฝากของที่ระลึก เป็นต้นค่ะ)
ขั้นที่ 2 นำกระแสเงินสดรับ (Benefit ; B) และกระแสเงินสดจ่าย (Cost ; C) ใส่ในตารางประมาณการกระแสเงินสด หรือเรียกว่า Cash Flow
เมื่อคุณกำหนดสมมติฐาน กระแสเงินสดรับ (B)และกระแสเงินสดจ่าย (C) ในแต่ละเดือนได้แล้ว คุณก็นำ B กับ C มาใส่ในตารางประมาณการกระแสเงินสดค่ะ (จะนำตัวอย่างตารางประมาณการกระแสเงินสดมาเขียนเป็นบทความแบ่งปันในบทต่อไปนะคะ)
ขั้นที่ 3 นำข้อมูลกระแสเงินสดรับ (B) และกระแสเงินสดจ่าย (C) ในแต่ละเดือนมาเปรียบเทียบกันเพื่อหากระแสเงินสดสุทธิ (B-C)
เมื่อตาราง Cash Flow ถูกจัดทำขึ้นแล้วเสร็จในขั้นตอนที่ 2 คุณก็สามารถนำข้อมูลกระแสเงินสดรับ (B) และกระแสเงินสดจ่าย (C) ในแต่ละเดือนมาเปรียบเทียบกันเพื่อหากระแสเงินสดสุทธิ (B-C) ซึ่ง B-C ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนนั้นจะช่วยให้คุณทราบว่าโครงการขาดเงินและเหลือเงินในเดือนใดบ้าง
โดยปกติแล้วโครงการจะติดลบในช่วงเดือนแรก ๆ ของการลงทุนค่ะ สาเหตุเป็นเพราะในเดือนแรกๆ นั้น โครงการของเราต้องจ่ายกระแสเงินสดออกไปในรายการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ค่าซื้อที่ดิน ค่าก่อสร้างโรงแรม ค่าตกแต่ง ฯลฯ จึงทำให้ C มากกว่า B ค่ะ
สรุปขั้นตอนที่ 3 นี้ จะทำให้คุณทราบข้อมูลกระแสเงินสดสทุธิว่าติดลบหรือเป็นบวกหรือไม่ เพื่อการกำหนดโครงสร้างของเงินลงทุนว่าคุณควรจะลงทุนเท่าไร และจะขอกู้เงินเท่าไร นอกจากนี้ B-C ยังบอกให้คุณทราบถึงจำนวนเงินสดที่เหลือ เพื่อการบริหารเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับกิจการด้วย
ขั้นที่ 4 นำเงินทุนและเงินกู้ที่ต้องลงทุนในแต่ละเดือนมาหาอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่คาดหวังเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (WACC)
เมื่อคุณจะนำเงินมาลงทุนในโครงการธุรกิจโรงแรม คุณอาจเกิดความไม่แน่ใจว่าโครงการโรงแรมนี้คุ้มค่าที่จะลงทุนหรือไม่ ซึ่ง WACC นี่แหละค่ะจะช่วยหาคำตอบให้คุณได้
WACC ย่อมาจาก Weighted Average Cost of Capital (WACC) คือ ต้นทุนเงินลงทุนเฉลี่ยของกิจการ ว่าการประกอบกิจการนี้มีต้นทุนการลงทุนเท่าไหร่ มักถูกใช้นำไปเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนเพื่อดูว่าการลงทุนนี้คุ้มค่าหรือไม่
ผลตอบแทน > WACC = คุ้มค่าน่าลงทุน
ผลตอบแทน < WACC = ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน
โดยทั่วไปโครงสร้างของเงินลงทุนจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ เงินจากเจ้าของเองและเงินกู้ยืม WACC จะเป็นการนำต้นทุนของเงินทุนทั้ง 2 ส่วนนี้มาถัวเฉลี่ยตามสัดส่วนเพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยของต้นทุนเงินทุนของเราค่ะ
สูตรการคำนวณ WACC
WACC = WdKd (1-T) + We Ke
Wd = สัดส่วนของเจ้าหนี้เมื่อเทียบกับเงินลงทุนทั้งหมด
We = สัดส่วนของเจ้าของเมื่อเทียบกับเงินลงทุนทั้งหมด
Kd = ต้นทุนของหนี้ หรือ ดอกเบี้ย
Ke = ผลตอบแทนที่คาดหวังของเจ้าของ
T = ภาษีนิติบุคคล (เนื่องจากดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ ในกรณีที่กู้เงินในนามนิติบุคคล)
WACC ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ต้นทุนของเงินทุนจากผู้ถือหุ้น และต้นทุนของเงินทุนจากการกู้ยืม เพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้นและเข้าใจง่าย ลองมาดูตัวอย่างการคำนวณ WACC กันค่ะ
สมมติว่าคุณต้องการลงทุนก่อสร้างโครงการโรงแรมด้วยเงินจำนวน 10,000,000 ล้านบาท ใช้เงินจากการกู้ยืม 3,000,000 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเท่ากับ 10% ต่อปี และใช้เงินลงทุนส่วนตัวอีก 7,000,000 บาท ซึ่งคุณคาดหวังผลตอบแทนที่ 20% ต่อปี กำหนดให้ภาษีนิติบุคคลเท่ากับ 20%
จากตัวอย่างแทนค่าในสูตร
WACC = [(3,000,000/10,000,000) x (10%) x (1-20%)]+[(7,000,000/10,000,000)x(20%)] = 16.4% ต่อปี
(ค่าของ WACC เป็นต่อปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเป็น ต่อปี)
จากตัวอย่างสรุปได้ว่า โครงการโรงแรมนี้มีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย (WACC) อยู่ที่ 16.4% ต่อปี และถ้าการลงทุนโครงการนี้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับ มากกว่า 16.4% ก็แปลว่าโครงการนี้น่าสนใจลงทุน
*** อธิบายเพิ่มเติม
จากสูตรการหา WACC ทำไมในสมการจึงต้องมี (1-T)
T = อัตราภาษีนิติบุคคล (อัตราภาษีปัจจุบันสูงสุดของนิติบุคคล คืออัตราร้อยละ 20)
เนื่องจากการกู้เงินในนามบริษัท ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนได้ ส่งผลให้สามารถประหยัดภาษีเงินได้นิติบุคคลไปในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นทั้งปี
ยกตัวอย่างเช่น
เงินกู้ 3,000,000 บาท
ภาษีเงินได้นิติบุคคล (T) 20%
อัตราดอกเบี้ย 10%
ดอกเบี้ยจ่าย/ปี 300,000 บาท
ภาษีที่ประหยัดได้ 60,000 บาท (300,000 x 20%)
ดอกเบี้ยจ่ายหลังหักภาษี 240,000 บาท
สรุปความว่า ดอกเบี้ยที่จ่ายจริง ๆ ไม่ใช่ 300,000 แต่เป็น 240,000 บาท และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 10% แต่ความจริงแล้วจ่ายเพียงแค่ 8% ต่อปีค่ะ เพราะผลทางภาษีเงินได้นิติบุคคล
ตัวอย่างการคำนวณ
อัตราดอกเบี้ยหลังหักภาษี 240,000 x 100
3,000,000
= 8%
หรือ 10% (1-20%)
= 8%
จากตัวอย่างที่นำมาแสดง บางท่านอาจจะเห็นว่าในกรณีที่นำเงินกู้มาลงทุนในสัดส่วนที่มากอาจดูน่าสนใจ เพราะหากใช้เงินกู้ยืมมากขึ้นจะทำให้WACC ลดลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในโลกของการลงทุนมีสิ่งหนึ่งที่ผู้ลงทุนหรือเจ้าของกิจการต้องพึงระวัง ก็คือ “ความเสี่ยง” หรือโอกาสที่ผลตอบแทนจะไม่ออกมาตามที่เราได้คาดการณ์ไว้ ดังนั้น หากนำเงินกู้ทั้งหมดมาลงทุนเราจะมีภาระที่เรียกว่า “ดอกเบี้ย” ซึ่งถือเป็นรายจ่ายคงที่ ที่เราจะต้องรับผิดชอบ หากการลงทุนในโครงการนั้นผิดพลาดไปทำให้ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ก็จะทำให้ปริมาณหนี้ยิ่งพอกพูนขึ้น บางสถาณการณ์อาจหนักหนาถึงขั้นที่กิจการเข้าสู่สภาวะล้มละลายได้เลยทีเดียวค่ะ ซึ่งแตกต่างจากการใช้เงินทุนของเจ้าของกิจการเอง ถึงแม้จะมีต้นทุนเงินทุนที่สูงกว่า แต่เงินทุนของเจ้าของก็ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายหรือดอกเบี้ยทางบัญชีค่ะ
ขั้นที่ 5 นำ B-C ในแต่ละปี และ WACC ในแต่ละปีมาหาดัชนีชี้วัดความคุ้มค่าในการลงทุน
ขั้นตอนนี้คุณต้องนำข้อมูลกระแสเงินสดรับ (Benefit ; B) และข้อมูลกระแสเงินสดจ่าย (Cost ; C) ในประมาณการกระแสเงินสดที่จัดทำขึ้นมาลบกัน และนำ WACC ที่คำนวณได้ในแต่ละปีมาใส่สมการ NPV , IRR และ BCR เมื่อได้ค่าต่าง ๆ แล้วคุณก็จะได้แนวทางในการตัดสินใจว่าโครงการโรงแรมนี้น่าลงทุนหรือไม่ค่ะ
ค่าของ NPV , IRR และ BCR ที่ได้จะใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจลงทุน
(ความหมายและการหาค่า NPV ,IRR และ BCR จะนำมาเขียนแบ่งปันให้อ่านในบทความถัดไปนะคะ)
ขั้นที่ 6 นำผลลัพธ์ของ NPV ,IRR และ BCR มาตัดสินใจลงทุน
ขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะช่วยคุณตัดสินใจว่าควรลงทุนในโครงการนี้หรือไม่ และเมื่อคุณสามารถจัดทำประมาณการกระแสเงินสดเป็นจนถึงขั้นตอนที่สามารถหาผลลัพธ์มาช่วยตัดสินใจวิเคราะห์การลงทุนโครงการได้ คุณก็จะกลายเป็นนักธุรกิจแบบมืออาชีพค่ะ
หลายท่านที่ไม่ได้เรียนบริหารธุรกิจมาก่อนและได้ใช้ความพยายามอดทนอ่านมาจนถึงตรงนี้ คงจะรู้สึกถึงความยุ่งยากและมึนงงกับข้อมูลสูตรต่าง ๆ กันบ้างนะคะ แต่การทำธุรกิจโรงแรมนั้นจัดเป็นการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งซึ่งต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ ดังนั้นการจะนำเงินก้อนนี้มาลงทุนเราในฐานะนักธุรกิจมืออาชีพก็ต้องคิด วางแผนและไตร่ตรองให้ดีก่อนลงทุนค่ะ เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงและไม่ทำให้เงินก้อนใหญ่ของเราสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ แล้วอย่าลืมมาติดตามอ่านบทความในบทต่อ ๆ ไปกันนะคะ
“เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ คือพลังที่ยิ่งใหญ่”
ขอให้ทุกท่านจงสร้างธุรกิจโรงแรมที่ดี มีคุณภาพเพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยของเรา
หากคุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ และบอกต่อด้วยนะคะ
มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับหลักสูตร เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้
คอร์สอบรมที่ช่วยให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ภายใน 2 วัน
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ