
“ถ้าคุณไม่รู้จักอดีต ก็จะไม่รู้จักปัจจุบัน และกำหนดอนาคตของตัวเองไม่ได้ “ ประโยคนี้ฉันคิดค้นขึ้นมาเองจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
หลายคนบอกว่าเรื่องประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่าเบื่อ มันผ่านมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้วจะอยากรู้ไปทำไมกัน แต่คุณรู้ไหมว่าคุณกำลังคิดผิดถนัด นักวิชาการหลายสำนักทั้งคนไทยและต่างชาติตีความหมายของคำว่าประวัติศาสตร์ที่พอเข้าไปอ่านแล้วเข้าใจยากซะเหลือเกินจนฉันเข้าใจได้ว่าใคร ๆ หลายคนทำไมไม่ชอบอ่านประวัติศาสตร์ ก็เป็นเพราะคนพวกนี้นั่นแหละพูดอะไรเข้าใจยาก เนื้อหาเชิงวิชาการพออ่านแล้วน่าเบื่อจริง ๆ บางคนหยิบหนังสือประวัติศาสตร์ขึ้นมานึกว่าเป็นยานอนหลับอ่านไปสัก 3-4 หน้าก็เดินทางไปเฝ้าพระอินทร์กันแล้ว ตามความเข้าใจของฉันเองแบบง่าย ๆ บ้านๆ ประวัติศาสตร์ก็คือเรื่องราวของผู้คนและเหตุการณ์ในอดีตที่ถูกบันทึกไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ก็แค่นั้นแหละ!
คลิกอ่านต่อ ที่นี่
ดังนั้นแล้วสำหรับฉันประวัติศาสตร์มันก็คือประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน ๆ ในอดีตที่ถูกบันทึกไว้ให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้ศึกษา ประวัติศาสตร์จะทำให้คุณได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต คุณจะได้รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นและที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และคุณจะสามารถคาดการณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการอาศัยบทเรียนจากในอดีต มีคำคมที่ว่า “คนเก่ง เรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง คนฉลาด เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น” คุณอยากเป็นคนเก่งหรือคนฉลาดเลือกเอาก็แล้วกัน
ฉันเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ทั้งประวัติศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญ วรรณกรรมไทย-ฝรั่ง วรรณคดีไทยฉันอ่านหมด ฉันจำได้ว่าอ่านหนังสือสามก๊กจบครั้งแรกตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.4 แต่อ่านไปกี่รอบไม่ขอบอกเดี๋ยวคนไม่คบ และอ่านเรื่องรามเกียรติ์กับพระอภัยมณีจบตอนอยู่ ป.5 หรือ ป.6 นี่แหละจำไม่ได้แต่เล่มหนามาก แฮรี่ พอตเตอร์ทั้ง 7 เล่มนี่อ่านจบไป 4 รอบเก็บทุกรายละเอียด ไม่รู้จะเรียกตัวเองว่าหนอนหนังสือหรือเป็นโรคจิตดี
เมื่อตอนยังเป็นเด็กที่บ้านของฉันฐานะยากจนมาก ตอนเรียนอยู่ชั้นประถมเวลาไปโรงเรียนแม่ให้เงินฉันแค่วันละ 1 บาท เงินจำนวนนี้พอแค่ค่าซื้อหวานเย็นไว้กินคลายร้อนตอนกลางวันเท่านั้นเพราะข้าวกลางวันกินที่โรงอาหารไม่ต้องใช้เงิน ช่วงนั้นฉันเริ่มใช้เงินเป็นและมีความต้องการเงินอย่างมากเพราะอยากซื้อหนังสือ หนังสือในห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดประชาชนไม่เพียงพอต่อความอยากรู้อยากเห็นของฉัน ฉันไม่กล้าขอเงินแม่เพราะรู้ดีว่ายังไงก็คงไม่ได้ หนังสือแต่ละเล่มที่ฉันอยากอ่านราคาเล่มหนึ่งก็ตก 2-3 ร้อยบาท หนังสือการ์ตูนเล่มโปรดอย่างโดราเอมอนฉันก็พลาดไม่ได้สักตอน ไหนจะมีหนังสือรายเดือนและรายปักษ์อย่างสวนเด็ก ขวัญเรือน กุลสตรี ที่มีคอลัมน์และปกิณกะที่อยากอ่านอีกมากมาย โอย! กิเลสทั้งนั้นแล้วจะบำบัดมันยังไงดี
ตอนนั้นแม่ฉันมีอาชีพเป็นแม่ค้าขายขนมหวานที่ตลาดสดในหมู่บ้านด้วย ฉันจึงมีไอเดียที่อยากหาอะไรไปขายที่ตลาดสดเช่นกันเพราะเชื่อแบบเด็ก ๆ ว่าถ้ามีสินค้าต้องมีลูกค้ามาซื้ออย่างแน่นอนตามกฎของดีมานด์และซัพพลาย ในตอนนั้นฉันไม่มีเงินเลยแล้วจะเอาเงินที่ไหนไปลงทุนซื้อสินค้ามาขายล่ะ งั้นฉันต้องหาสินค้าที่ไม่ต้องลงทุนสิ ฉันรู้มาว่าคนในหมู่บ้านชอบกินผักลวกจิ้มแจ่วเป็นอาหารหลักโดยเฉพาะผักโขม ชื่อภาอังกฤษ มันเขียนว่า Amaranth ไม่ใช่ผักที่ป๊อบอายชอบกินเพื่อเพิ่มพลังนะไอ้ผักที่ป๊อบอายกินมันคือผักปวยเล้งหรือผักโขมฝรั่งดูที่ข้างกระป๋องมันเขียนว่าSpinach ชัดเจนเลย ผักชนิดนี้มันขึ้นอยู่มากมายตามริมห้วยมันจึงเป็นของฟรีฉันจะไปเก็บมาเท่าไหร่ก็ได้ไม่มีใครว่า ดังนั้นฉันจึงเริ่มปฏิบัติการตื่นตีห้าเพื่อไปเก็บผักที่ริมห้วยน้ำคานแล้วนำไปขายที่ตลาดกองละ 1 บาท วันหนึ่งขายได้ประมาณ 15-20 กองได้เงินวันละ 15-20 บาท ขายทุกวันตอนเช้าก่อนไปโรงเรียนไม่เว้นแม้แต่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยแล้วฉันมีรายได้เดือนละประมาณ 500-600 บาท ถือว่าไม่เลวสำหรับเด็กอายุ 10 ขวบ และนี่ก็คือประวัติศาสตร์เรื่องราวช่วงวัยเด็กของฉันที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในความทรงจำและมันสอนให้ฉันรู้ว่า “กว่าจะได้อะไรมา ไม่มีอะไรง่าย แต่ของที่ได้มาง่าย ๆ ไม่มีคุณค่าให้น่าจดจำ”
ฉันโม้เรื่องของตัวเองอีกแล้ว! เรามาบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์โรงแรมแบบบ้าน ๆ อ่านแล้วไม่ง่วงกันดีกว่าค่ะ
ก่อนอื่นมารู้ความหมายของ โรงแรม ก่อนค่ะ
- โรงแรม หมายถึง สถานที่ประกอบการเชิงการค้าที่นักธุรกิจตั้งขึ้น เพื่อบริการผู้เดินทางในเรื่องของที่พักอาศัย อาหาร และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพักอาศัยและเดินทาง หรืออาคารที่มีห้องนอนหลายห้อง ติดต่อเรียงรายกันในอาคารหนึ่งหลังหรือหลายหลัง ซึ่งมีบริการต่าง ๆ เพื่อความสะดวกของผู้ที่มาพัก ซึ่งเรียกว่า “แขก” (guest)
คำว่า hotel หรือ โรงแรมมีที่มาจากภาษาฝรั่งเศสซึ่งแปลว่า คฤหาสน์ โรงแรมแห่งแรกในยุโรปคือ Hotel de Hanri IV (โฮเทล เดอ อองรี กัต) เมื่อปี ค.ศ. 1788 โดยในสมัยก่อนใช้คำว่า hôtel และภายหลังได้เปลี่ยนตัวโอมาเป็นโอปกติในภาษาอังกฤษเป็น hotel เหมือนปัจจุบัน (ข้อมูลจาก Wikipedia)
ในประเทศไทย คำว่า “โรงแรม” หรือ “hotel” ถูกใช้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 4 โดยหม่อมราโชทัย ผู้ประพันธ์เรื่อง “นิราศลอนดอน” เป็นผู้นำคำว่า “โฮเต็ล” มาใส่ในบทประพันธ์ นิราศลอนดอน ทำให้คนไทยเริ่มใช้คำว่า “โฮเท็ล” หรือ “โรงแรม” นับแต่นั้นมา
- Inn หมายถึง ที่พักขนาดเล็ก ตั้งอยู่ริมทาง ไม่มีบริการอาหารและเครื่องดื่ม ในประเทศจีนเรียกว่า “โรงเตี๊ยม”
- Tavern หมายถึง ที่พักสำหรับคนเดินทางที่ใช้ม้าเป็นพาหนะ มีลักษณะเหมือนโรงเตี๊ยม
- Accommodation หมายถึง ที่พักที่จัดไว้ให้คนเดินทาง พร้อมมีบริการอาหารและเครื่องดื่ม
- Motel หมายถึง โรงแรมขนาดเล็ก ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายสำคัญ ๆ เพื่อให้บริการสำหรับนักเดินทางที่เดินทางโดยรถยนต์
- Lodge หมายถึง สถานที่ให้เช่าสำหรับพักอาศัยค้างคืนระหว่างเดินทาง ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม สระว่ายน้ำและคิดค่าเช่าเป็นค่าตอบแทน
- Guest House หมายถึง สถานที่ให้เช่าขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นห้องโถง ห้องน้ำรวมไม่มีบริการอื่น ๆ ราคาเช่าถูก
ประวัติศาสตร์การเกิดโรงแรมในยุโรป
แบ่งออกเป็นยุคต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ
- ยุคอารยธรรมโบราณ ในยุคนั้นมีประเพณีเก่าแก่ คือการแบ่งปันขนมปังกับคนแปลกหน้า ประเพณีนี้ได้พัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็นอุตสาหกรรมการบริการอย่างทุกวันนี้ ในสมัยน้ำใช้คำว่า “hospitality” มาจากคำศัพท์เก่าแก่ของภาษาฝรั่งเศส “hospice” ซึ่งหมายถึง “การให้ที่พักหรืออาหารแก่นักเดินทาง” hospice ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ Hospice de Beaune ในแคว้น Burgundy ประเทศฝรั่งเศส หรือรู้จักกันในนาม “Hotel Dieu” “The House of God” ซึ่งตั้งขึ้นโดยนายกเทศมนตรีของแคว้นเบอร์กันดีในสมัยนั้น ตัวอาคารดัดแปลงมาจากโรงพยาบาลเก่าเพื่อให้ที่พักพิงแก่ผู้ยากไร้ ปัจจุบันโรงพยาบาลแห่งนี้ยังคงอยู่ กลายเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และไร่องุ่นที่มีชื่อเสียงแห่งแคว้นเบอร์กันดี
- ยุคสมัยโบราณระหว่าง 1,700 B.C. – ค.ศ.500 ในยุคอาณาจักรกรีกโบราณ คนที่เดินทางจะนอนตามถนนหรือนอนตามบ้านเรือนของญาติหรือตามโบสถ์ มีที่พักพิงและอาหารให้ตามอัตภาพ ไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อคนเดินทางมากขึ้น เส้นทางใดที่มีคนเดินทางผ่านมากขึ้นหรือเป็นจุดหมายของการเดินทางจึงได้มีการจัดสร้างที่พักแรมขึ้น ในสมัยโบราณให้บริการได้เฉพาะที่พักแรมเท่านั้นห้ามให้บริการอื่นเพราะกฎหมายห้ามไว้หากใครฝ่าฝืนจะต้องโทษประหารชีวิต มีบันทึกอยู่ในประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (1,700 ปีก่อนคริสตกาล) กฏหมายดังกล่าวระบุไว้ว่าเจ้าของจะต้องรายงานแขกที่สงสัยจะก่ออาชญากรรมใน taverns ที่ตนเองเป็นเจ้าของ หากไม่ทำตามจะมีโทษถึงประหารชีวิต การเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมในยุคนั้นเสี่ยงและอันตรายมากทีเดียวนะคะ
- ยุคกรุงเอเธนส์ ประมาณ 600 B.C. เริ่มมีเหล้าองุ่นทำเอง ขนมปัง เนย ถั่ว ไว้บริการลูกค้า ที่ตั้งของโรงแรมมักอยู่ใกล้วัด เพราะจะใช้โรงแรมเป็นที่ประกอบพิธีบวงสรวงเทพเจ้าและรับประทานอาหารกัน ต่อเมื่อมาถึงยุคสมัยของยุคโรมัน เริ่มมีโรงแรมเกิดขึ้นตามเมืองต่าง ๆ มีบริการห้องพักขนาดเล็กพร้อมอาหารและเครื่องดื่ม บางแห่งยังพ่วงบ่อนการพนันและสตรีบริการด้วย แต่หลังจากอาณาจักรโรมันตะวันตกล่มสลาย ผู้คนก็ขาดการติดต่อค้าขายโจรผู้ร้ายชุกชุมการเดินทางจึงหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมเป็นอย่างมากจนต้องหยุดขยายกิจการ
- สมัยกลาง ค.ศ. 501 – 1300 ธุรกิจโรงแรมอยู่ในยุคที่ซบเซา นักเดินทางส่วนใหญ่มีเพียงผู้แสวงบุญจึงใช้วัดเป็นที่พักแรม ในช่วงสงครามครูเสด ซึ่งเป็นสงครามระหว่างศาสนาคริสต์กับอิสลาม เกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 11 ถึง 13 ชาวคริสต์ในยุโรปได้เดินทางไปร่วมทำสงคราม ทำให้วัดในคริสต์ศาสนาต้องสร้างที่พักไว้บริการแก่ชาวคริสต์ที่ไปร่วมรบในสงครามเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สงครามนี้ยังส่งผลให้นครรัฐต่าง ๆในอิตาลี เช่น เวนีสและฟลอเรนซ์กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเดินทางจากยุโรปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
- ช่วง ค. ศ.1300 ประเทศอิตาลี การค้าขายเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ทำให้ธุรกิจโรงแรมขยายตัวตามไปด้วย ยุคนี้มีที่พักแรมสำหรับคนและม้า เรียกว่า Tavern แพร่หลายตามเมืองต่าง ๆ ตั้งอยู่ริมทางรถม้า นอกจากเป็นที่พักแรมของคนเดินทางแล้วยังเป็นที่พบปะของเหล่าขุนนาง นักการเมือง พระและบุคคลในท้องถิ่นด้วย นอกจากนี้ยังมีบริการไปรษณีย์สำหรับนักเดินทางด้วย
- สมัยฟื้นฟู ค.ศ. 1301 – 1600 ยุคนี้มีโรงแรมขนาดเล็ก จำนวนห้องพัก 20-30 ห้อง เรียกว่า George Inn มีบริการห้องเก็บของ อาหาร เหล้าองุ่น ห้องประกอบอาหาร ห้องพักสำหรับคนเลี้ยงม้าและม้า ต่อมาพัฒนาให้เป็นโรงแรมสำหรับบริการเศรษฐีโดยการเพิ่มความสะดวกสบายและจัดให้มีคณะละครสัตว์และการแสดงต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสนุกสนาน การจัดตั้งโรงแรมในยุคนั้นต้องได้รับอนุญาตจากขุนนาง อัศวินหรือเจ้าของที่ดินเสียก่อน โรงแรมสมัยก่อนจะใช้สัญลักษณ์สีเขียวเป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่าเป็นโรงแรม ก่อนพัฒนามาเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆเช่น สิงโต ห่านหรือปลาโลมา เป็นต้น
- สมัยใหม่ยุคแรก ค.ศ. 1601 – 1800 เป็นช่วงเริ่มต้นยุคปฏิวัติอุสาหกรรมทำให้ธุรกิจโรงแรมเฟื่องฟูขึ้น โรงแรมเริ่มปรับมาตรฐานให้สูงขึ้น โรงแรมเปลี่ยนมาใช้ชื่อวิสามานยนามหรือชื่อเรียกเฉพาะเจาะจงและมักใช้คำว่า arms กำกับท้ายชื่อ
- สมัยใหม่ยุคปัจจุบัน ค.ศ. 1801 – 2000 โรงแรมมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีบริการเพียงแค่ห้องพักก็พัฒนาให้มีความหรูหรา สะดวกสบาย มีการบริการที่ดีมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษโรงแรมเป็นที่สิงสถิตย์ของพวกผู้ดี ขุนนาง และเหล่านักการเมืองเท่านั้น โดยโรงแรมที่มีชื่อเสียงเรื่องความหรูหรามากในอังกฤษ คือโรงแรมซาวอย (Savoy Hotel) สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1880 เป็นโรงแรมเดียวที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โบสถ์ และโรงละคร อยู่ในนั้น (จะมาเขียนเรื่องโรงแรมซาวอยให้อ่านกันภายหลังนะคะ)
ซีซาร์ ริทซ์ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งการโรงแรม” ได้เป็นผู้ให้คำนิยามว่า หัวใจสำคัญของธุรกิจโรงแรม คือการบริการ และเป็นผู้เริ่มแนวคิดจัดงานบันเทิงที่โรงแรมแทนที่บ้าน (อ่านบทความ ซีซ่าร์ ริทซ์ บิดาแห่งประวัติศาสตร์โรงแรมโลก คลิ๊กที่นี่)
อ่านบทความ เรื่องราวเอามาแบ่งปัน!!! บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์โรงแรมในแต่ละยุคสมัย ตอนที่ 2 คลิ๊กที่นี่
*** หมายเหตุ B.C. ย่อมาจากคำว่า Before Christ // Before (the birth of) Christ ซึ่งแปลว่า ก่อนพระเยซูจะประสูติ
“เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ คือพลังที่ยิ่งใหญ่”
ขอให้ทุกท่านจงสร้างธุรกิจโรงแรมที่ดี มีคุณภาพเพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยของเรา
เพื่อแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจ ฝากกดไลค์ กดแชร์ และบอกต่อด้วยนะคะ
มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับหลักสูตร เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้
คอร์สอบรมที่ช่วยให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ภายใน 2 วัน
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ
