
การทำธุรกิจโรงแรมที่ประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดจากความอยากและเงินลงทุนที่เพรียบพร้อมเพียงเท่านั้น แต่มันมีปัจจัยหลายอย่างที่คุณต้องนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ เพื่อตอบคำถามว่า โครงการนี้สมควรลงทุนหรือไม่?
คลิกอ่านต่อ ที่นี่
หลาย ๆ คนคงมองว่าในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ทุกอย่างกำลังอยู่ในช่วงขาลงจึงไม่กล้าลงทุนหรืออยากจะรอดูสถานการณ์ไปเรื่อย ๆ ก่อน หรืออาจจะรอให้ทุกอย่างดีขึ้นก่อนแล้วค่อยลงมือทำ รอให้โรคระบาดหาย เศรษฐกิจฟื้นฟู การเมืองนิ่ง แต่คุณเคยคิดไหมค่ะว่าถ้าคุณรอจนถึงตอนนั้นแล้วค่อยลงมือทำ ตลาดก็เป็นของคนที่เตรียมตัวเสร็จไปตั้งแต่ตอนนี้แล้ว
ฉันเชื่ออยู่เสมอว่า สิ่งที่คนอยากประสบความสำเร็จต้องการมีอยู่ 2 สิ่ง หนึ่งคือความรู้ในทางธุรกิจ และสองคือแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนธุรกิจ ตอนที่ฉันเริ่มต้นสร้างธุรกิจโรงแรมนั้นก็มีแต่คนตั้งคำถามออกแนวค่อนแค่ะอยู่เสมอว่า มาสร้างโรงแรมอยู่ในอำเภอเล็ก ๆ แบบนี้แล้วใครที่ไหนจะมาพัก แต่แล้วหลังจากฝ่าฟันอุปสรรคและอดทนกับปัญหาทุกรูปแบบในที่สุดโรงแรมเล็ก ๆ ของฉันก็สามารถยืนหยัดอยู่ได้จนทุกวันนี้ แม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็ยังไม่ได้กระทบมากนักเพราะยังมีลูกค้าประจำวนเวียนมาพักอย่างสม่ำเสมอ ฉันเตรียมตัวเปิดร้านอาหารในช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดก็มีหลายคนพร้อมใจกันสงสัยเช่นกันว่าทำไมต้องเปิดร้านในช่วงเวลาแบบนี้แล้วใครที่ไหนจะเข้ามานั่งกินอาหารและมาใช้บริการ แต่ฉันกลับมองว่ามันเป็นโอกาสที่ทำให้ได้มีเวลาคิดเตรียมการและวางแผนอย่างรอบคอบ แม้ว่าร้านอาหารยังไม่มีคนนอกมานั่งรับประทานแต่ก็มีโอกาสที่จะมีคนสั่งแบบเดลิเวอร์รี่และเป็นการทดลองเปิดให้บริการสำหรับแขกที่มาพักในโรงแรม ถึงแม้ว่ายอดขายอาจจะยังไม่มากแต่ก็ทำให้ฉันได้ทดสอบระบบและคิดว่าจะวางแผนในการบริหารจัดการกับวัตถุดิบอย่างไร? เพื่อให้เก็บได้นานที่สุดโดยยังสามารถรักษาคุณภาพเอาไว้ได้ และยังได้มีเวลาคัดเลือกซัพพลายเออร์ที่ดีที่สุดสำหรับจัดส่งวัตถุดิบให้กับร้านอาหารค่ะ และฉันก็เชื่อว่าเมื่อโรคระบาดคลี่คลายลงและทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางเหมือนเดิมร้านอาหารที่ค่อย ๆ ทดสอบระบบมาก่อนหน้านี้ก็จะพร้อมให้บริการกับแขกได้อย่างเต็มที่ค่ะ
เมื่อฉันเริ่มต้นเขียนบทความและเขียนหนังสือ ก็มีคนถามว่าทุกวันนี้ยังมีคนอ่านหนังสือกันอยู่อีกหรือ? เพราะคนส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ก็เข้าแอพฯโซเชียลมีเดีย ดูรูป ดูวิดิโอ ในสมาร์ทโฟนกันทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องยอมรับว่าเป็นที่นิยมมากในปัจจุบันแต่เนื้อหาพวกนี้ก็เพื่อความบรรเทิงที่ฉาบฉวยเท่านั้นค่ะ แต่ถ้าคุณอยากสร้างธุรกิจและเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคุณต้องเป็นคนที่ศึกษาหาความรู้อย่างจริงจังและยังต้องลงมือปฏิบัติเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรงเท่านั้น เพื่อให้ความรู้และประสบการณ์ขัดเกลาความคิดและจิตวิญญาณของคุณจนรู้จักเนื้อแท้ของการเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงค่ะ และเพื่อเตรียมตัวเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเรามาเรียนรู้ตำราการทำธุรกิจไปด้วยกันนะคะ
จากบทความก่อนหน้านี้ ได้แบ่งปันความรู้เรื่อง ขั้นตอนวิธีจัดทำประมาณการกระแสเงินสดและเรื่องมูลค่าของเงินที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาเพื่อการตัดสินใจลงทุนไปแล้ว ซึ่งในแต่ละบทก็ได้อ้างถึงดัชนีชี้วัดความคุ้มค่าในการลงทุนของโครงการ ได้แก่ NPV IRR และ BCR ซึ่งในบทความนี้ก็จะนำดัชนีชี้วัดที่กล่าวถึงทั้ง 3 ตัวนี้มาให้ท่านผู้อ่านเข้าใจอย่างละเอียดมากขึ้นค่ะ
อ่านบทความเพิ่มเติม
- การวิเคราะห์โครงการโรงแรมขนาดเล็ก ตอนที่ 1 อยากทำธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก ควรเริ่มต้นจากตรงไหน? คลิกที่นี่ >>>
- การวิเคราะห์โครงการโรงแรมขนาดเล็ก ตอนที่ 2 การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการโรงแรมขนาดเล็กก่อนลงทุน ที่เจ้าของธุรกิจโรงแรมต้องรู้! คลิกที่นี่ >>>
- การวิเคราะห์โครงการโรงแรมขนาดเล็ก ตอนที่ 3 6ขั้นตอน วิธีจัดทำประมาณการกระแสเงินสด (CF) ธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ คลิกที่นี่ >>>
- การวิเคราะห์โครงการโรงแรมขนาดเล็ก ตอนที่ 4 เรื่องมูลค่าของเงินที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาเพื่อการตัดสินใจลงทุน ที่เจ้าของธุรกิจโรงแรมต้องรู้! คลิกที่นี่>>>
การตัดสินใจลงทุนในแต่ละยุคสมัยนั้น มีหลักเกณฑณ์ที่ว่าเมื่อนำเงินมาลงทุนในโครงการใดแล้ว มีเงินสดเหลือหลังจากหักเงินที่นำมาลงทุนก็ถือว่ามีกำไร เช่น โครงการ A ลงทุนด้วยเงิน 100 ล้านบาท ผ่านไป 1 ปีได้เงินคืนกลับมา 120 ล้านบาท เงิน 20 ล้านบาทส่วนที่เกินมานี้ถือเป็นกำไรจากโครงการค่ะ
การลงทุนในยุคปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างไปจากอดีต แต่มีมุมมองเพิ่มเข้ามาอีกว่า เงิน 20 ล้านบาทในอนาคตไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง เพราะเงิน 20 ล้านบาทในอนาคตยังไม่ถูกพิจารณาว่า ครอบคลุมผลตอบแทนที่คาดหวังในอัตราที่ต้องการหรือไม่ เพราะในกรณีที่เงิน 20 ล้านบาทไม่ครอบคลุมกับผลตอบแทนที่คาดหวัง ผู้ลงทุนอาจจะไม่ลงทุนแต่จะนำเงิน 100 ล้านบาทไปลงทุนในโครงการอื่นแทน
ดังนั้น เงิน 20 บาทที่จะได้รับในอนาคตจึงต้องถูกปรับค่าให้กลายเป็นมูลค่าเงิน ณ ปัจจุบัน (Present Value ; PV) ด้วยอัตราคิดลด (Discount Rate) ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนคนนั้นคาดหวัง ตัวเลขที่ออกมาจะมีค่าน้อยกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินในรูปปัจจุบันที่ผู้ลงทุนคนนั้นเห็นค่าของมันมีค่าเท่านี้
ตัวอย่าง
เงิน 20 ล้านบาทที่จะได้รับ หากกำหนดอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังเป็น 10% ต่อปี
PV = 20 / (1+10)1
= 18 ล้านบาท
เงิน 18 ล้านบาทนี้ เป็นมูลค่าที่แท้จริงของผู้ลงทุน
โดยสรุปแล้ว เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินใจในการลงทุนโครงการก็คือ โครงการนำเงินมาลงทุนแล้วได้ทุนคืน และมีเงินเหลือเป็นกำไร (กระแสเงินสดรับ-กระแสเงินสดจ่าย เป็นบวก) แต่ปรับเงินที่เหลือในอนาคต (Future Value ; FV) ให้กลายเป็นมูลค่าของเงินในปัจจุบันนี้ (Present Value ; PV) เพื่อให้เห็นความจริงว่า เงินที่เหลือในรูป FV ได้ครอบคลุมผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนคาดหวังในอัตราเปอร์เซนต์ตามที่ต้องการหรือไม่
อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อปี และในแต่ละคนจะมีอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังไม่เท่ากัน สาเหตุมาจากนิสัยใจคอ รสนิยม หรือรูปแบบการใช้ชีวิต ฯลฯ ที่แตกต่างกันค่ะ
การที่เราจะนำเงินมาลงทุนสักโครงการจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องคิดใตร่ตรองให้ละเอียดรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุนค่ะ บางท่านอาจมีเงินลงทุนส่วนตัวเป็นเงินเย็นอยู่แล้ว บางท่านอาจเป็นเงินกู้ เงินเก็บสะสมทั้งชีวิต แต่อย่าเอาแค่ความอยากเป็นเจ้าของธุรกิจมาเป็นตัวตัดสินใจในการลงทุนค่ะ คุณต้องคิดใตร่ตองให้ถี่ถ้วน ละเอียดรอบคอบว่าหากนำเงินจำนวนหนึ่งมาลงทุนแล้วธุรกิจจะเติบโตไปในทิศทางที่ต้องการและเกิดความคุ้มค่าน่าลงทุนหรือไม่ และในบทความนี้ได้นำดัชนีชี้วัดความคุ้มค่าในการลงทุนที่สำคัญ 3 ค่า ได้แก่ NPV IRR และ BCR มาแบ่งปันค่ะ
Net Present Value หรือ NPV
Net Present Value ; NPV แปลตรงตัวให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ผลตอบแทนแบบสุทธิที่เราคิดว่าจะได้รับจากการลงทุนในโครงการอะไรสักอย่างที่เราจะใส่เงินลงทุนเข้าไปค่ะ ถ้าหาก NPV มีค่าเป็นบวก แสดงว่าการลงทุนในโครงการนี้ มีผลกำไรน่าลงทุน แต่ถ้า NPV มีผลเป็นลบ แสดงว่าโครงการนี้ขาดทุน ไม่สมควรจะลงทุนเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า
โดยทั่วไป ถ้าเราอยากรู้ว่าทำธุรกิจได้กำไรหรือขาดทุนนั้นก็สามารถคิดแบบง่าย ๆ ด้วยการเอา รายได้ ลบ ต้นทุน ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็เป็น กำไร/ขาดทุน การหาค่า NPV ก็ใช้หลักการคล้าย ๆ กันค่ะ เพียงแต่มันมีเรื่องของ มูลค่าของเงินตามเวลา (Time Value of Money) เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากมูลค่าของเงินในวันนี้กับเงินในอนาคตมันไม่เท่ากันเหมือนดังเช่นตัวอย่างที่นำมาแสดงให้ดูก่อนหน้าค่ะ
ก่อนจะไปคำนวณหาค่า NPV มีอีกหนึ่งคำศัพท์ที่คุณต้องรู้ นั่นคือ กระแสเงินสดสุทธิ มันคือเงินรายรับของโครงการ (Benefit ; B) ลบด้วย เงินรายจ่ายของโครงการ ( Cost ; C) ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็น กระแสเงินสดสุทธิ
ความหมายของค่าNPV
- NPV > 0 = สามารถลงทุนได้ การลงทุนเป็นผลกำไร
- NPV < 0 = สมควรปฏิเสธลงทุน การลงทุนให้ผลขาดทุน
- NPV = 0 = การลงทุนให้ผลเท่าทุน คุ้มทุนพอดี หากต้องการลงทุนควรพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินด้วย

รู้จักกับ Discount Rate
Discount Rate แปลว่า อัตราคิดลด หมายถึง อัตราที่ใช้คำนวณมูลค่าของเงินในอนาคตให้กลับมาอยู่ในรูปของเงินมูลค่า ณ ปัจจุบัน หรือบางกรณีเรียกว่า Present Value Interest Factor (PVIF) เพื่อให้เข้าใจ Discount Rate ได้ง่ายขึ้นเรามาดูตัวอย่างกันค่ะ
กรณีที่ 1
- คุณได้รับเงิน 1,000 บาทในตอนนี้
- คุณได้รับเงิน 1,100 บาทในตอนนี้
หากคนสติดีและไม่ตกคณิตศาสตร์ย่อมต้องเลือกรับเงิน 1,100 บาทในตอนนี้อยู่แล้ว เพราะมันมีมูลค่ามากกว่า 1,000 บาท
กรณีที่ 2
- คุณได้รับเงิน 1,000 บาท ในตอนนี้
- คุณได้รับเงิน 1,100 บาท แต่ต้องรออีก 1 ปีข้างหน้า
ในกรณีที่ 2 นี้ คุณจะเลือกรับเงินแบบไหนค่ะ?
จากกรณีตัวอย่างที่ยกมาให้ดู แสดงให้เห็นว่าถ้ามันมีเรื่องของระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง การเปรียบเทียบมูลค่าของเงินก็จะยากขึ้น ซึ่งคุณคงต้องพยายามเปรียบเทียบเงินที่จะได้รับมาในตอนนี้กับเงินที่จะได้มาในอนาคต ว่าแบบไหนจะคุ้มค่ามากกว่ากัน
ในกรณีเช่นนี้ เราจึงต้องใช้ Discount Rate หรือ อัตราคิดลด เข้ามาเป็นตัวช่ายในการคำนวณนั่นเองค่ะ โดย Discount Rate มาจาก 2 ปัจจัย คืออัตราดอกเบี้ยลงทุน (ส่วนใหญ่ก็คือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมค่ะ ) และอัตราเงินเฟ้อค่ะ
Discount Rate หรืออัตราคิดลด มีวิธีการคำนวณที่หลากหลายขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการนำไปใช้ทำอะไร เช่น เพื่อนต้องการยืมเงินเรา 50,000 บาท แล้วอีก 1 ปีข้างหน้าจะนำเงินมาคืน เราควรจะคิดดอกเบี้ยเพื่อนเท่าไหร่ดี?
วิธีการนี้เราอาจจะเปรียบเทียบว่า ถ้าเราไม่ได้ให้เพื่อยืมเงิน 50,000 บาท แต่เราจะนำเงินจำนวนนี้ไปฝากธนาคารเป็นเงินฝากประจำ ได้อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี แต่ถ้าเราจะให้เพื่อนยืมเงินเราอาจจะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินคืน ดังนั้นเราอาจเพิ่มค่าชดเชยความเสี่ยงอีก 3 % รวมเป็น 5% เป็นดอกเบี้ยที่เราเรียกเก็บจากเพื่อนค่ะ
ในบางกรณี Discount Rate ก็คือ อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนค่ะ เช่น นำเงินไปลงทุนในโครงการ A 10 ล้านบาท ต้องการอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุน 30% เป็นต้นค่ะ
Discount Rate เป็นหนึ่งในความรู้พื้นฐานสำคัญของนักการเงิน เพราะมันสามารถนำไปใช้ในหลายด้านมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาค่า NPVและ IRR ค่ะ
Internal Rate of Return หรือ IRR
Internal Rate of Return ; IRR เป็นการประเมินว่า การลงทุนให้อัตราผลตอบแทนเท่าใด เป็นการคำนวณหาอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในโครงการ อัตราผลตอบแทนนี้จะเป็นอัตราที่ทำให้มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) มีค่าเท่ากับ 0 หรือผลตอบแทนที่ได้รับเท่ากับเงินเงินลงทุนครั้งแรก
- ถ้า IRR เท่ากับ ต้นทุนทางการเงิน แสดงว่า การลงทุนนั้น เท่าทุน
- ถ้า IRR มากกว่า ต้นทุนทางการเงิน แสดงว่า การลงทุนนั้น มีกำไรควรค่าแก่การลงทุน
- ถ้า IRR น้อบกว่า ต้นทุนทางการเงิน แสดงว่า การลงทุนนั้นขาดทุน ไม่สมควรลงทุน เอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า

ตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจ การหา NPV และ IRR ได้ง่ายขึ้นค่ะ
ดอกแก้วนำเงิน 1,000,000 บาท มาลงทุนก่อสร้างธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก โดยมีอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง 10% (อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังควรสูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่เรากู้ยืมมา เพราะถ้าได้น้อยกว่าเราก็จะขาดทุนค่ะ) หลังจากก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว ดอกแก้วมีกระแสเงินสดสุทธิ (รายรับ-รายจ่าย) ดังนี้ค่ะ
ปีที่ 1 มีกระแสเงินสดรับสุทธิ 750,000 บาท
ปีที่ 2 มีกระแสเงินสดรับสุทธิ 800,000 บาท
ปีที่ 3 มีกระแสเงินสดรับสุทธิ 900,000 บาท
ปีที่ 4 มีกระแสเงินสดรับสุทธิ 970,000 บาท
ปีที่ 5 มีกระแสเงินสดรับสุทธิ 1,000,000 บาท
เพื่อพิสูจน์ว่า การลงทุนสามารถสร้างผลกำไรได้จริงหรือไม่ ดอกแก้วจึงคำนวณหามูลค่าปัจจุบันของเงินสดสุทธิ (NPV)ในแต่ละปีด้วยอัตราคิดลด (Discount Rate) เท่ากับต้นทุนทางการเงิน (อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง 10%)ตามตารางดังนี้

จากการคำนวณหาค่า NPV ในตางราง พบว่า NPV = 2,302,603.90 มีค่าเป็นบวกหรือมากกว่า 0 จึงสรุปว่า โครงการนี้น่าสนใจลงทุน
ถ้าคุณไม่ใช่สายคำนวณและขี้เกียจกดเครื่องคิดเลขก็หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาค่ะ แล้วไปที่แอพ Ez Calculators ที่เคยแบ่งปันไว้ในบทความ รู้จักมูลค่าของเงินที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา เพื่อการตัดสินใจลงทุน คลิกที่นี่>>>

เปิดแอฟ Ez Calculator แล้วเลือกเมนู IRR NPV จากนั้นก็ใส่ข้อมูลตามภาพเลยค่ะ ไม่ต้องกดเครื่องคิดเลขให้เมื่อยนิ้ว (กดเครื่องคิดเลขไม่ถูกก็ได้ค่าตัวเลขผิดอีก) จากประสบการณ์การทดลองใช้แอพฯในมือถือพบว่า ถ้าเป็นเครื่องที่ใช้ระบบปฏิบัติการ andriod จะมีประสิทธิภาพดีกว่า ios ค่ะ
และเพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบ ดอกแก้วจึงคำนวณหาค่า IRR เพื่อตรวจสอบว่า อัตราคิดลด (Discount Rate) ที่ทำให้ NPV มีค่าเท่ากับศูนย์ (มูลค่าปัจจุบันของเงินสดสุทธิที่ได้รับในแต่ละปี เท่ากับเงินลงทุนก้อนแรก) มีค่ามากกว่าต้นทุนทางการเงิน 10% (อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง) จริงหรือไม่ เพื่อสะท้อนว่าการลงทุนในโครงการนี้สร้างผลตอบแทนได้กี่เปอร์เซนต์
จากตัวอย่างพบว่า ค่า IRR อยู่ที่ 76.81% เป็นค่าที่ทำให้ NPV เท่ากับ ศูนย์ และเป็นเปอร์เซนต์ผลตอบแทนที่มากกว่าอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง (สามารถดูค่า IRR ได้จากรูปภาพการคำนวณในแอพ Ez Calculator)

จากตารางสุ่มคำนวณ IRR ที่ 76.81% ได้ค่า NPV = 37.91 ซึ่งเป็นค่าที่ NPV เข้าใกล้ศูนย์มากที่สุด
จากตัวอย่างจึงสรุปได้ว่า โครงการนี้น่าสนใจลงทุน เนื่องจาก NPV = 2,302,603.90 มีค่าเป็นบวกหรือมากกว่า 0 และ IRR = 76.81% มีค่ามากกว่าต้นทุนทางการเงิน (อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง10%) หมายถึง การลงทุนมีผลกำไร
การหา NPV เพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุนโครงการ คุณไม่มีความจำเป็นต้องไปจำสูตรยาก ๆ แค่เพียงขอให้คุณทำความเข้าใจให้ได้ว่า คุณจะต้องแปลงกระแสเงินสดสุทธิในแต่ละปีตลอดโครงการ (รายรับ-รายจ่าย) ให้เป็นกระแสเงินสดในรูปของปัจจุบัน (PV) หลังจากนั้นคุณก็หา PV ของกระแสเงินสดสุทธิในแต่ละปี แล้วเอามาบวกกัน คุณก็จะได้ NPV ค่ะ
ในตำราธุรกิจทุกเล่ม มักจะกล่าวไว้เสมอว่าโครงการที่สมควรลงทุนจะต้องมี IRR สูงกว่าอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง จากตัวอย่าง IRR = 76.81% หมายความว่า โครงการนี้ให้อัตราผลตอบแทนภายในโครงการที่ 76.81% สมมติว่า หากคุณต้องการชวนเพื่อนมาร่วมหุ้นลงทุน และเพื่อนของคุณมีความต้องการผลตอบแทนที่อัตรา 40% โครงการนี้เขาย่อมต้องสนใจอย่างแน่นอนเพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราผลตอบแทนที่เขาคาดหวัง IRR จึงเป็นเครื่องมือช่วยระดมทุนให้กับโครงการ เพราะถ้าโครงการให้ IRR สูงก็ยิ่งเป็นที่น่าสนใจลงทุนค่ะ
Benefit and Cost Ratio หรือ BCR
Benefit and Cost Ratio ; BCR เป็นดัชนีอีกตัวหนึ่ง ที่สามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจลงทุนโดยมีสมการดังนี้ค่ะ

การใช้ BCR เป็นเกณฑ์ตัดสินใจลงทุน ในทางทฤษฎีเป็นดังนี้ค่ะ
- ถ้า BCR > 1 หมายความว่า มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดรับตลอดอายุโครงการ มีค่ามากกว่า มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดจ่ายตลอดโครงการ แสดงว่าโครงการนี้มีเงินเหลือนั่นเอง และเงินเหลือในความหมายนี้จะส่งผลให้ NPV เป็นบวก โครงการจึงสมควรลงทุน
- เมื่อ BCR = 1 หมายความว่า มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดรับตลอดอายุโครงการมีค่าเท่ากับมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดจ่ายตลอดโครงการ แสดงว่าโครงการนี้มีเงินสดรับพอดีกับเงินสดจ่าย จึงทำให้ไม่มีเงินสดคงเหลือนั่นเอง และการที่ไม่มีเงินสดคงเหลือนี้ทำให้ NPV มีค่าเท่ากับศูนย์ จึงสมควรลงทุนได้
NPV เท่ากับ ศูนย์ ทำไมจึงสมควรลงทุนได้?
จากทฤษฎีการวิเคราะห์โครงการลงทุนด้วย NPV มักจะบอกอยู่เสมอว่าถ้า NPV มากกว่า ศูนย์ หรือมีค่าเป็นบวก จึงสมควรลงทุนเนื่องจากวิเคราะห์ได้ว่าโครงการนี้ลงทุนแล้วได้กำไรเพราะมีกระแสเงินสดรับมากกว่าเงินสดจ่าย แต่ทำไมจึงมีการวิเคราะห์ว่าถ้า NPV เท่ากับ ศูนย์ จึงสมควรลงทุนได้?
คำตอบคือ ถึงแม้ว่า NPV จะเท่ากับศูนย์ แต่นั่นไม่ได้แปลว่า โครงการไม่สร้างเงินสดสุทธิ (กระแสเงินสดรับ-กระแสเงินสดจ่าย) ในรูปของอนาคต พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ โครงการก็ยังมีรายรับเข้ามาในรูปของเงินอนาคต (FV) นั่นเอง
บางครั้งแม้ไม่มีโครงการที่น่าสนใจลงทุน แต่ผู้ลงทุนอาจไม่อยากทิ้งเงินเอาไว้เฉย ๆ การนำเงินไปลงทุนในโครงการที่มี NPV เท่ากับศูนย์ ก็ยังมีโอกาสร้างเงินและรายรับเข้ามาในอนาคต และการลทุนโครงการที่ NPV เท่ากับศูนย์นี้ ถ้ามองในแง่ของทุนมนุษย์แล้วแม้ว่าโครงการจะไม่มีกำไรแต่สิ่งที่ผู้ลงทุนได้กลับมาคือความรู้และประสบการณ์ค่ะ
การคำนวณหา NPV IRR และ BCR นี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นต้องรู้สำหรับนักการเงินและคนที่สนใจลงทุนในโครงการและต้องการวิเคราะห์โครงการด้วนตนเองค่ะ ฉันเข้าใจว่าสำหรับท่านที่ไม่เคยเรียนด้านบริหารธุรกิจและการเงินมาก่อนอาจจะเห็นสูตรและตัวเลขแล้วปวดหัวจนพาลเบื่อไม่อยากสนใจศึกษาต่ออีกเลยค่ะ ตัวฉันเองก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่าในสมัยที่เรียนนั้นวิชาพวกนี้มันทั้งน่าเบื่อและปวดหัวเอามาก ๆ แต่พอเมื่อได้มาทำธุรกิจด้วยตนเองในช่วงแรก ๆ ก็ไม่สนใจจะศึกษาต่อเพราะคิดว่าลงทุนไปแล้วเดี๋ยวก็คงมีกำไรเอง แต่ปรากฎว่าในสถานการณ์จริงมันไม่เป็นเช่นนั้นค่ะ เพราะในระหว่างที่ทำธุรกิจหรือเปิดกิจการนั้นมันมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างแทรกเข้ามาจนทำให้รู้ว่าก่อนลงทุนทำธุรกิจนั้นคุณต้องรู้จักการวิเคราะห์โครงการให้เป็น ไม่เช่นนั้นเมื่อคุณนำเงินมาลงทุนในธุรกิจโรงแรมแล้วคุณจะมองไม่เห็นตัวเงินในรูปของกำไรจริง ๆ เลยค่ะ
ก็หวังว่าเนื้อหาที่นำมาแบ่งปันในบทนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านทุกท่านนะคะ ฉันได้พยายามอย่างที่สุดเพื่อที่จะเขียนเนื้อหาและยกตัวอย่างให้ผู้อ่านที่ไม่มีความรู้ทางการเงินมาก่อนเข้าใจได้ง่ายที่สุด ถ้ามีข้อสงสัยหรือต้องการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการสร้างธุรกิจโรงแรมก็สามารถทักทายเข้ามาคุยกันได้นะคะ
เมื่อคุณเข้าใจ NPV IRR และ BCR เพื่อใช้วิเคราะห์การตัดสินใจลงทุนแล้ว ในบทความต่อไปฉันจะพาคุณไปรู้จักกับการตั้งสมติฐานเพื่อการลงทุนโครงการค่ะ เพื่อคุณจะได้ทำประมาณการกระแสเงินสดเป็น แล้วเจอกันใหม่ในบทความต่อไปนะคะ
“เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ คือพลังที่ยิ่งใหญ่”
ขอให้ทุกท่านจงสร้างธุรกิจโรงแรมที่ดี มีคุณภาพเพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยของเรา
หากคุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ และบอกต่อด้วยนะคะ
มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับหลักสูตร เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้
คอร์สอบรมที่ช่วยให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ภายใน 2 วัน
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ