
เมื่อคุณตัดสินใจจะนำเงินมาลงทุนทำธุรกิจโรงแรมสักหนึ่งโครงการ มีสิ่งหนึ่งที่คุณจะต้องคำนึงถึงนั่นก็คือ “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” เข้ามาเป็นตัวช่วยพิจารณาอยู่เสมอ การรู้จัก “มูลค่าของเงินตามเวลา” จะช่วยให้คุณรู้จักต้นทุนค่าเสียโอกาสของเงินลงทุน ในกรณีที่คุณนำเงินมาลงทุนในธุรกิจโรงแรมแทนที่จะนำไปลงทุนในรูปแบบอื่น เช่น ฝากธนาคาร หรือซื้อหุ้น เป็นต้นค่ะ
คลิกอ่านต่อ ที่นี่
มูลค่าของเงินตามเวลา ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Time Value of Money” หมายถึง ค่าของเงิน ณ เวลาที่แตกต่างกันจะมีมูลค่าไม่เท่ากัน เนื่องจากเงินที่ได้มาก่อนนั้นสามารถที่จะนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนได้ก่อน ทำให้เงินจำนวนเดียวกันในเวลาที่ต่างกันนั้นมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การจะเปรียบเทียบเงินในเวลาที่ต่างกันจึงไม่สามารถทำได้โดยตรง แต่จะต้องมีการเปลี่ยนเงินแต่ละจำนวนที่จะนำมาเปรียบเทียบกันให้เป็นเงินในเวลาเดียวกันเสียก่อน อนุมานได้กับการบวกลบเลขที่มีฐานต่างกันไม่สามารถที่จะบวกลบกันได้โดยตรงแต่จะต้องมีการเปลี่ยนเลขที่มีฐานต่างกันให้เป็นฐานเดียวกันก่อนจึงจะสามารถนำมาบวกลบกันได้ค่ะ
มูลค่าของเงินตามเวลา จึงเป็นแนวคิดที่ใช้ในการแปลงมูลค่าของเงินที่ได้รับหรือที่ต้องจ่ายไปในเวลาต่าง ๆ กันให้เป็นมูลค่าของเงินในเวลาเดียวกัน เพื่อที่จะสามารถเปรียบเทียบมูลค่าเงินในเวลาที่ต่างกันสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนนำเงินไปลงทุนในด้านต่าง ๆ ค่ะ
มูลค่าของเงินตามเวลา (Time Value of Money)
ประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก ดังนี้ค่ะ
- มูลค่าปัจจุบัน (Present Value ; PV) หมายถึง มูลค่าของเงิน ณ ปัจจุบัน เช่น เงิน 100 บาท ที่คุณมีในตอนนี้
- มูลค่าอนาคต (Future Value ; FV) หมายถึง มูลค่าของเงินในอนาคต เช่น เงินที่มีอยู่ 100 บาทตอนนี้ มีมูลค่าไม่ถึง 100 บาทในอนาคต เป็นต้น
- จำนวนครั้งการทบต้น (Compounding periods ; n) หมายถึง ระยะเวลาในการคำนวณหามูลค่าของเงินก้อนนั้น ๆ เช่น ระยะเวลากาลงทุน ,ระยะเวลาเงินที่ฝากในธนาคาร เป็นต้น
- อัตราคิดลด (Discount rate ; i ) หมายถึง อัตราที่ใช้คำนวณหามูลค่าเงินก้อนนั้น ๆ ตามปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น อัตราเงินเฟ้อ ,อัตราเงินฝาก ,อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน เป็นต้น
ตัวอย่างการคำนวณมูลค่าของเงินในอนาคต
สมมติว่า ณ ปัจจุบันคุณมีเงิน 100 บาท ถ้าให้ค่าตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ในระยะเวลาอีก 5 ปีข้างหน้าคุณจะมีเงินในอนาคตเป็นจำนวนเท่าไร?
สูตรการคำนวณมูลค่าของเงินในอนาคต มีดังนี้ค่ะ
FV = PV x (1+r)n
แทนค่าต่าง ๆ ลงในสูตร
PV = 100
r = 0.05 (5/100)
n = 5
FV = 100 (1+ 0.05)5
= 127.63 บาท
สรุปความว่า ปัจจุบันคุณมีเงิน 100 บาท ถ้าให้ผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ในอีก 5 ปีข้างหน้า เงิน 100 บาทของคุณจะเพิ่มเป็น 127.63 บาท
จากตัวอย่าง คุณจะเห็นได้ว่าเมื่อเงินเดินทางผ่านกาลเวลา มูลค่าของเงินก็จะมีค่าเปลี่ยนแปลงไป ถ้าเงินเดินทางไปในอนาคตมูลค่าของเงินก็ควรจะเพิ่มขึ้น
และจากตัวอย่างข้างบน ถ้าคุณเป็นสายคำนวณการแทนค่าในสูตรคงจะไม่ใช่เรื่องยากสักเท่าไรนัก แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่นั้นแค่เห็นตัวเลขบวกลบคูณหารกันก็วิงเวียนตาลายไปหมดแล้ว แต่คุณอย่าเพิ่งท้อใจไปค่ะในเมื่อตอนนี้มันเป็นยุค 4.0 แล้ว ไม่ต้องดีดลูกคิดรางแก้วเหมือนยุคคุณทวด ไม่ต้องกดเครื่องคิดเลขและหาสูตรในตาราง excell ให้มันยุ่งยากอีกต่อไป เพราะตอนนี้มันมีแอพพลิเคชันการเงินขั้นเทพมาเป็นตัวช่วยแล้วค่ะ แอพฯตัวนี้มีชื่อว่า EZ Financial
เมื่อรู้ชื่อแอพฯ แล้วก็อย่ารอช้าค่ะ ว่าที่เจ้าของโครงการโรงแรมทุกท่านโปรดหยิบสมาร์ทโฟนของคุณขึ้นมาและเข้าไปทำการดาวน์โหลดและติดตั้งกันเลย
ตัวอย่างแอพฯ EZ Financial


เปิดแอพฯ และเลือกที่เมนูอันดับแรกด้านซ้ายบนที่เขียนว่า TVM Calculator ค่ะ เมนูนี้จะช่วยคุณสามารถคำนวณมูลค่าของเงินตามเวลาได้อย่างง่ายดาย โดยที่คุณไม่ต้องจดจำสูตรให้ยุ่งยากอีกต่อไป


จากโจทย์ตัวอย่างการคำนวณมูลค่าของเงินในอนาคต
สมมติว่า ณ ปัจจุบันคุณมีเงิน 100 บาท ถ้าให้ค่าตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ในระยะเวลาอีก 5 ปีข้างหน้าคุณจะมีเงินในอนาคตเป็นจำนวนเท่าไร?
- Presen Value (PV) คือ มูลค่าของเงินปัจจุบัน ให้ใส่จำนวนเงิน ณ ปัจจุบันที่คุณต้องการนำมาลงทุน จากตัวอย่างคือ 100 บาท อย่าลืมใส่เครื่องหมาย ลบ (-) ไว้ด้านหน้าเสมอ เนื่องจากเป็นเงินที่เราจะต้องจ่ายออกไปค่ะ
- Future Value (FV) คือ มูลค่าของเงินในอนาคต เป็นช่องที่แอพฯ จะคำนวณผลลัพธ์ของจำนวนเงินในอนาคตเมื่อครบระยะเวลาให้กับเรา
- Annual Rate% คือ อัตราผลตอบแทนที่เราได้จากการลงทุน (ดอกเบี้ย)
- Period คือ ระยะเวลาที่เราต้องการนำเงินไปลงทุน
- Compounding จากเดิมในระบบเป็น Monthly ให้แก้ไขใหม่เป็น Annually
จากตัวอย่างการคำนวณมูลค่าของเงินในอนาคตด้วย แอพฯ EZ Financail ค่า FV = 127.63 เป็นผลลัพธ์ที่ได้ตรงกับที่คำนวณด้วยสูตรเลยค่ะ
มูลค่าปัจจุบันสุทธิ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Net Present Value ; NPV
Net Present Value ; NPV แปลตรงตัวให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ผลตอบแทนแบบสุทธิที่เราคิดว่าจะได้รับจากการลงทุนในโครงการอะไรสักอย่างที่เราจะใส่เงินลงทุนเข้าไปค่ะ ถ้าหาก NPV มีค่าเป็นบวก แสดงว่าการลงทุนในโครงการนี้ มีผลกำไรน่าลงทุน แต่ถ้า NPV มีผลเป็นลบ แสดงว่าโครงการนี้ขาดทุน ไม่สมควรจะลงทุนเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า
โดยทั่วไป ถ้าเราอยากรู้ว่าทำธุรกิจได้กำไรหรือขาดทุนนั้นก็สามารถคิดแบบง่าย ๆ ด้วยการเอา รายได้ ลบ ต้นทุน ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็เป็น กำไร/ขาดทุน การหาค่า NPV ก็ใช้หลักการคล้าย ๆ กันค่ะ เพียงแต่มันมีเรื่องของ มูลค่าของเงินตามเวลา (Time Value of Money) เข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากมูลค่าของเงินในวันนี้กับเงินในอนาคตมันไม่เท่ากันเหมือนดังเช่นตัวอย่างที่นำมาแสดงให้ดูก่อนหน้าค่ะ
ก่อนจะไปคำนวณหาค่า NPV มีอีกหนึ่งคำศัพท์ที่คุณต้องรู้ นั่นคือ กระแสเงินสดสุทธิ มันคือเงินรายรับของโครงการ (Benefit ; B) ลบด้วย เงินรายจ่ายของโครงการ ( Cost ; C) ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็น กระแสเงินสดสุทธิ
สูตรการคำนวณหา NAV

เพื่อให้เข้าใจการคำนวณ NAV ง่ายขึ้น เรามาดูตัวอย่างกันค่ะ
สมมติว่า ถ้านาย A กำลังพิจารณาลงทุนทำธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กแห่งหนึ่ง โดยใช้เงินลงทุนเร่ิมแรก 700,000 บาท โดยมีต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 10% และคาดการณ์ว่าจะมีกระแสเงินสดรับสุทธิตลอด 5 ปี ดังนี้
ปีที่ กระแสเงินสดรับสุทธิ (CF)
1 180,000
2 200,000
3 230,000
4 230,000
5 250,000
ถ้าคุณเป็นสายคำนวณก็จัดการลุยเลยค่ะ
NPV = 180000 / (1+0.10)1 + 200000 / (1+0.10)2 + 230000/ (1+0.10)3 + 230000/ (1+0.10)4 + 250000 / (1+0.10)5 – 700000
= 163,636 + 165,289 + 172,802 + 157,104 + 155,183 – 700,00
= 114,014
ประเดี๋ยวก่อนนะคะทุกคน ….
เห็นสูตรคำนวณเยอะ ๆ นี้อย่าเพิ่งถอยนะคะ เพราะอย่าลืมว่าเรามีตัวช่วยคำนวณอีกแรงเป็นแอพฯ ขั้นเทพค่า ว่าแล้วเพื่อจะคำนวณหาค่า NPV ให้เหมือนกับนักธุรกิจมืออาชีพเราก็หยิบสมาร์ทโฟนคู่ใจขึ้นมาเปิดแอพฯ EZ Financial ที่ได้ดาวน์โหลดไว้ก่อนหน้าเลยค่ะ


ให้คุณเลือกที่เมนู IRR NPV Calculator ตามภาพเลยค่ะ จากนั้นให้ใส่ตัวเลขตามช่องต่าง ๆ ดังนี้
- Discount Rate(%) = ใส่อัตราต้นทุนของเงินทุน
- Cash Flow 0 = ใส่เงินลงทุนเริ่มแรกของเรา อย่าลืม! ใส่เครื่องหมายลบ (-) ไว้หน้าตัวเลขด้วย เนื่องด้วยมันเป็นเงินที่เราจ่ายออกไป
- Cash Flow 1 = ใส่กระแสเงินสดสุทธิปีที่ 1
- Cash Flow 2 = ใส่กระแสเงินสดสุทธิปีที่ 2
- Cash Flow 3 = ใส่กระแสเงินสดสุทธิปีที่ 3
- Cash Flow 4 = ใส่กระแสเงินสดสุทธิปีที่ 4
- Cash Flow 5 = ใส่กระแสเงินสดสุทธิปีที่ 5
เมื่อใส่ตัวเลขจนครบทุกรายการแล้วก็กดปุ่ม CALCULATE ได้ผลลัพธ์ NPV = 114,051.45
(ผลลัพธ์ที่คำนวณจากแอพฯ อาจแตกต่างจากผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณด้วยสูตรเล็กน้อยค่ะ เนื่องจากการปัดเศษส่วนทศนิยม)
NPV = 114,051.45
สรุปความว่า นาย A สมควรลงทุนในโครงการโรงแรมขนาดเล็กแห่งนี้ เนื่องจาก NPV มีค่าเป็นบวก
การประยุกต์มูลค่าปัจจุบันกับหลักการตัดสินใจลงทุน
หลักการตัดสินใจลงทุนนั้น แต่ละคนมักจะมีอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น นาย A เป็นนักเล่นหุ้น เคยได้รับกำไรจากการเล่นหุ้นคิดเป็นร้อยละ 30 ต่อปี เมื่อเทียบกับเงินลงทุน ส่วนนาย B เป็นข้าราชการ มีเงินฝากอยู่ในธนาคารและพอใจกับดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีที่ได้รับจากธนาคาร ทั้งสองคนมีทัศนคติต่อการใช้ชีวิตและลงทุนที่ไม่เหมือนกันและยังมีความรู้สึกต่อค่าของเงินที่แตกต่างกันด้วย นาย A เป็นนักเล่นหุ้นกินข้าวร้านอาหารมื้อละ 1,000 บาทเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนนาย B พอใจกับการกินข้าวมันไก่ชามละ 50 บาทเป็นเรื่องปกติ ทั้งนาย A และ นาย B เป็นเพื่อนกัน ต่อมานาย C ซึ่งเป็นเพื่อนของทั้งนาย A และนาย B ชวนทั้งคู่ไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตกล้วยฉาบส่งประเทศจีน ด้วยเงินลงทุน 4 ล้านบาทโดยนาย C บอกว่าคนทั้งคู่จะได้ผลตอบแทนเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท ณ ปีที่ 3 คุณคิดว่าทั้งนาย A และนาย B จะร่วมลงทุนโรงงานผลิตกล้วยฉาบกับนาย C หรือไม่?
จากประวัติการลงทุน นาย A คาดหวังผลตอบแทนที่ 30% ส่วนนาย B คาดหวังผลตอบแทนที่ 5% หากคนทั้งคู่นำเงินมาลงทุนในโรงงานผลิตกล้วยฉาบของนาย C นาย A จะมีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่ 30% ส่วนนาย B จะมีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่ 5% อนุมานได้ว่า ผลตอบแทนที่ทั้งสองคนคาดหวังต้องไม่ต่ำกว่าผลตอบแทนที่พวกเขาเคยได้รับ
เมื่อทั้งนาย A และนาย B มีอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังไม่เท่ากัน เราก็ลองมาหามูลค่าปัจจุบันของเงิน 10 ล้านบาทในปีที่ 3 กันค่ะ ว่านาย A และนาย B จะมีความเห็นต่อมูลค่าปัจจุบันของเงิน 10 ล้านบาทอย่างไร?
สถานการณ์ของนาย A
ถ้านาย A ต้องถอนเงินจากการลงทุนในหุ้นมาลงทุนในโรงงานกล้วยฉาบ ต้นทุนค่าเสียโอกาส (r) ของเขา คือ 30%
PV = 10 x 1
(1 + 0.30)3
= 4.55 ล้านบาท
สถานการณ์ของนาย B
ถ้านาย B ต้องถอนเงินจากการลงทุนในเงินฝากธนาคารมาลงทุนในโรงงานกล้วยฉาบ ต้นทุนค่าเสียโอกาส (r) ของเขาคือ 5%
PV = 10 x 1
( 1+ 0.05)3
= 8.64 ล้านบาท
จากตัวอย่าง โครงการลงทุนโรงงานกล้วยฉาบของนาย C ใช้เงินลงทุน 4 ล้านบาท
- นาย A เห็นว่าเงิน 10 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า มีมูลค่าปัจจุบันที่ 4.55 ล้านบาท หากลงทุนในโครงการของนาย C จำนวน 4 ล้านบาท จะมีเงินมากขึ้นในรูปมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 0.55 ล้านบาท (4.55-4.0)
- นาย B เห็นว่าเงิน 10 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า มีมูลค่าปัจจุบันที่ 8.64 ล้านบาท หากลงทุนในโครงการของนาย C จำนวน 4 ล้านบาท จะมีเงินมากขึ้นในรูปมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 4.64 ล้านบาท (8.64-4.0)
จากตัวอย่าง คุณคงจะเห็นแล้วว่า เงินจำนวน 10 ล้านบาทในอนาคตนั้นมีค่าสำหรับนาย A และนาย B แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้นาย A จึงไม่ลงทุนในโครงการของนาย C แต่นาย B กลับต้องการลงทุนในโครงการนี้
ฉันสงสัยจริง ๆ ค่ะ ว่าจะมีใครทนอ่านบทความนี้มาจนถึงบรรทัดนี้หรือไม่ หรือบางท่านอาจจะทนอ่านแบบผ่าน ๆ ตามาก็เป็นได้ค่ะแต่ก็ยังมึนงงและไม่เข้าใจ คุณไม่ต้องกลุ้มใจไปหรอกค่ะ ค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ ทำความเข้าใจใหม่อีกหลาย ๆ รอบเท่าที่คุณต้องการ ตัวฉันเองเรียนจบด้านบริหารธุรกิจและเคยทำงานธนาคารมาก่อน และยังต้องเรียนเนื้อหาการเงินในหลักสูตรอสังหาริมทรัพย์และหลักสูตรที่ปรึกษาการเงินมาก็หลายรอบ ก็ยังต้องทำความเข้าใจใหม่ซ้ำหลาย ๆ รอบ ดังนั้น หากคุณอยากเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมแบบมืออาชีพก็ต้องอดทนและเรียนรู้ให้มาก ๆ นะคะ เพราะฉันเคยมีประสบการณ์ทำธุรกิจโดยที่ไม่เคยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการและไม่เคยคำนวณมูลค่าของเงินปัจจุบันและเงินในอนาคตมาก่อน ผลลัพธ์ที่ได้มันคาดเดาไม่ยากเลยค่ะ ภายใน 6 เดือนธุรกิจโรงแรมไม่เป็นตามที่หวัง ไม่มีลูกค้าเพราะไม่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและแผนการตลาดที่ชัดเจน ธุรกิจขาดสภาพคล่องเพราะไม่เคยทำประมาณการกระแสเงินสดและขาดรายได้ จนฉันต้องรีบกลับตัวและตั้งหลักใหม่ ค่อย ๆ เรียนรู้จากประสบการณ์และแก้ไขข้อผิดพลาดไปเรื่อยจนธุรกิจโรงแรมสามารถเดินต่อไปได้ในตอนนี้
ขอเป็นกำลังใจให้นักธุรกิจหน้าใหม่ทุกท่านค่ะ
“เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ คือพลังที่ยิ่งใหญ่”
ขอให้ทุกท่านจงสร้างธุรกิจโรงแรมที่ดี มีคุณภาพเพื่อช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยของเรา
หากคุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ และบอกต่อด้วยนะคะ
มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับหลักสูตร เจ้าของโรงแรม-รีสอร์ทขนาดเล็ก ใคร ๆ ก็เป็นได้
คอร์สอบรมที่ช่วยให้คุณเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ภายใน 2 วัน
หนังสือที่คนอยากทำธุรกิจโรงแรมต้องอ่าน!!!
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
มาเป็นเพื่อนกับเราทางไลน์!!!
ถ้าไม่อยากพลาดข่าวสารและบทความดีๆ
